คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 8 ฉบับ ดังนี้
1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ (เป็นการโอนสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2545)
2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะการทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมันคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นหน่วยงานกลาง ตลอดจนการให้สำนักงบประมาณ (สงป.) และกระทรวงการคลัง (กค.) สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ
3. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... กำหนดหลักเกณฑ์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ (เป็นการโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทุนและทรัพย์สิน ของสำนักความมั่นคงปลอดภัย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ไปเป็นของสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้)
4. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม การใช้หรือเปิดเผย และข้อปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งสามารถทำให้ระบุตัวบุคคลนั้นได้ สิทธิของเจ้าของข้อมูล หลักเกณฑ์การร้องเรียน และการให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
5. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ และการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
6. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. .... เป็นการจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้มีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
7. ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุทาทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ให้ยกเลิกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม และแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่
8. ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอกนิกส์ (องค์การมหาชน)
สาระสำคัญของเรื่อง
ทก.เสนอว่า
1. ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยประสบผลสำเร็จ การมีโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคของสังคมดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ จึงมีความจำเป็นต้องทบทวนและพิจารณาความพร้อมของกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
2. สำหรับการวางโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายให้มีความพร้อมนี้จำเป็นต้องดำเนินการทั้งในมิติของการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศสามารถพัฒนาไปสู่ยุคของสังคมดิจิทัลได้ ซึ่งการดำเนินการ ปกป้องดูแล และคุ้มครองให้การดำเนินการในยุคของสังคมดิจิทัลมีความปลอดภัยในคราวเดียวกัน โดยกฎหมายที่ควรมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วย 1) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นกฎหมายที่นำไปสู่การยอมรับผลทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทริอนิกส์ให้มีผลเช่นเดียวกับกระดาษ 2) กฎหมายที่ป้องปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ที่มีรูปแบบและวิธีการต่างไปจากความผิดโดยทั่วไป 3) กฎหมายที่พร้อมรับมือกับการจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการโจมตีทั้งในระดับองค์กรและประเทศ และ 4) กฎหมายที่คุ้มครองแก่ประชาชนในการใช้ชีวิตในโลกเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีเป็นส่วนตัว ปราศจากการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ที่มักเป็นเป้าหมายในการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในทางที่ไม่พึงประสงค์
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มกราคม 2558--