คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ปรับปรุงนิยามคำว่า “เครื่องสำอาง” ให้มีความชัดเจน ครอบคลุมตามหลักสากล และเพิ่มเติมนิยามศัพท์ ได้แก่ สารสำคัญ ส่งออก ผู้รับจดแจ้ง ผู้ประกอบธุรกิจ ข้อความ โฆษณา สื่อโฆษณา หน่วยงานของรัฐ ด่านอาหารและยา
2. ปรับปรุงมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคโดยเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับภาชนะบรรจุ หลักเกณฑ์วิธีการผลิต วิธีการนำเข้า หรือวิธีการเก็บรักษา วิธีการรายงานอาการที่ไม่พึงประสงค์ ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งผู้ผลิตหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางต้องจัดให้มีไว้เพื่อการตรวจสอบ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค
3. ปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อหรือส่งเสริมการส่งออก และเพิ่มโอกาสให้องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเครื่องสำอางมากขึ้น
4. ปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลเครื่องสำอางโดยกำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางทุกประเภทต้องแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนผลิตหรือนำเข้า โดยปรับจากเดิมที่เครื่องสำอางบางประเภทเท่านั้น ที่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับและบางประเภท ต้องแจ้งรายละเอียด
5. ปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณา โดยกำหนดให้การโฆษณาเครื่องสำอางจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จากเดิมที่ต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้โดยอนุโลม
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มกราคม 2558--