กค. เสนอว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานฯ มาตรา 9(5) ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับการต้องโทษจำคุกพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้เข้มงวดกว่าข้าราชการพลเรือน โดยกำหนดว่าการได้รับโทษจำคุกไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ ให้ถือเป็นลักษณะต้องห้ามของพนักงานรัฐวิสาหกิจด้วย ทำให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีพนักงานรัฐวิสาหกิจที่กระทำความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรง เช่น การขับรถขณะเมาสุรา หรือกระทำความผิดครั้งแรกและศาลได้ตัดสินให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ ต้องพ้นจากการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษไม่ถือเป็นลักษณะต้องห้ามของข้าราชการพลเรือน ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคกันในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบกับคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร้องขอให้มีการทบทวนการกำหนดลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับการต้องโทษจำคุกของเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ โดยควรให้โอกาสผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกในการกลับตนเป็นคนดีและสามารถ เข้าทำงานในหน่วยงานของภาครัฐได้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับการต้องโทษจำคุกของผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดให้ผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
2. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรารักษาการ โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มกราคม 2558--