ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ….

ข่าวการเมือง Tuesday January 20, 2015 17:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้รัฐมีอำนาจพัฒนาทรัพยากรน้ำ โดยเปลี่ยนรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายพื้นที่ของแหล่งน้ำ

2. กำหนดให้บุคคลมีสิทธิใช้น้ำได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในกิจกรรมหรือในที่ดินของตน หรือเก็บกักน้ำได้เท่าที่ไม่เป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น

3. กำหนดให้มี “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “กนช.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง ปลัดกระทรวงและอธิบดี ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคเอกชน เป็นกรรมการ โดยให้ กนช. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามที่กำหนด และให้กรมทรัพยากรน้ำทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ กนช.

4. กำหนดให้การกำหนดลุ่มน้ำให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้ กนช. แต่งตั้ง “คณะกรรมการ ลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำ” ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น ผู้แทนหน่วยงาน ของรัฐ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตลุ่มน้ำนั้น ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำและผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ

5. กำหนดให้บุคคลซึ่งใช้น้ำในบริเวณใกล้เคียงและอยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันมีสิทธิรวมตัวก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อประโยชน์ในการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ

6. กำหนดให้การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภทที่ 1 เพื่อ การดำรงชีพฯ ประเภทที่ 2 เพื่อการเกษตร อุตสาหกรรมฯ ประเภทที่ 3 เพื่อกิจการขนาดใหญ่ฯ และให้การอนุญาตการใช้น้ำเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด

7. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งเกี่ยวกับการประกาศกำหนดเขตภาวะน้ำแล้งหรือภาวะน้ำแล้งฉุกเฉิน การจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขภาวะดังกล่าว เป็นต้น

8. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม การจัดทำระบบเตือนภัย และกำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขภาวะดังกล่าว เป็นต้น

9. กำหนดให้มีการอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ โดยการกำหนดให้แหล่งต้นน้ำลำธารเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ การออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อการอนุรักษ์ การคุ้มครอง หรือพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ การห้ามทิ้ง หรือระบายสิ่งใด ๆ ที่ส่งผลเสียต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ

10. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้ามีอำนาจในการควบคุมและการตรวจตราทรัพยากรน้ำ และกำหนดความรับผิดทางอาญาและความรับผิดทางแพ่งในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มกราคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ