การดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ข่าวการเมือง Tuesday January 20, 2015 18:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

2. เห็นชอบแนวทางการดำเนินการต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องิ่นไทยดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. สถานการณ์การคุ้มครองศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในปัจจุบัน

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ (sui generis) ที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีเพียงกฎหมายบางฉบับที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะด้าน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหลายหน่วยงาน ได้แก่ 1) ด้านศิลปวัฒนธรรม 2) ด้านทรัพยากรชีวภาพ 3) ด้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

2. การคุ้มครองภายใต้ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึงการคุ้มครองศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดจากการสืบทอดกันมา หากจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ศิลปวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาดังกล่าวต้องได้รับการพัฒนาต่อยอดจนเข้าข่ายเป็นงานทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา อยู่ระหว่างส่งเสริมให้ได้รับการคุ้มครอง อาทิ 1) ลิขสิทธิ์ 2) สิทธิบัตร 3) ความลับทางการค้า 4) สิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ 5) เครื่องหมายการค้า

3. การดำเนินการของกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการพัฒนาต่อยอดศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนี้ 1) โครงการประกวดการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรมระดับประเทศ 2) การรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผลงานศิลป์แผ่นดิน 3) การส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

4. ความเห็นแนวทางการดำเนินการต่อไป

4.1 การคุ้มครองศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยมีความสำคัญทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีความเกี่ยวพันกับภารกิจของหลายหน่วยงาน โดยในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการคุ้มครองและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ภายใต้ระบบที่แต่ละหน่วยงานกำกับดูแลและสนับสนุน ดังนี้

4.1.1 ด้านศิลปวัฒนธรรม

สนับสนุนให้ วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. .... เพื่อคุ้มครองศิลปวัฒนธรรมหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อาทิ ศิลปะการแสดงและการดนตรี วัฒนธรรมทางภาษา พิธีกรรม และประเพณีหรือเทศกาล เป็นต้น และดำเนินการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เป็นต้น

4.1.2 ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น

สนับสนุนให้ สธ. โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และภูมิปัญญาดั้งเดิม ดำเนินการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาแพทย์แผนไทย อาทิ เร่งประกาศกำหนดให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นตำรับยาแผนไทยของชาติหรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยทั่วไปหรือตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป และจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เป็นต้น

4.1.3 ด้านพันธุ์พืช

ส่งเสริมให้ กษ. โดยกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชและรับรองพันธุ์พืช ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นและพันธุ์พืชที่ได้ปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์จนได้พันธุ์พืชใหม่ และการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไทยและพันธุ์พืชป่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เป็นต้น

4.1.4 ด้านทรัพย์สินทางปัญญา

พณ. โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะได้ดำเนินการส่งเสริมให้มีการนำงานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยที่ได้รับการพัฒนาและต่อยอดจนเข้าข่ายเป็นงานทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใดประเภทหนึ่งมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และนำเข้าสู่ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมต่อไป

4.2 การแก้ไขปัญหากรณีที่มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมไทยไปใช้ประโยชน์ โดยต่างชาติ เห็นควรมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศหนึ่งต้องรับรองหรือคุ้มครองสิทธิในภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมของอีกประเทศหนึ่งเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การจัดทำกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศ และมีผลผูกพันประเทศสมาชิกในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากฎหมายภายในของแต่ละประเทศ โดย พณ. และ กต. จะได้ร่วมประชุมเจรจาภายใต้ WIPO และองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

4.3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยในสาขาที่ไทยมีศักยภาพและอยู่ในความสนใจของต่างชาติ ตลอดจนมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สามารถพัฒนาและต่อยอดไปสู่สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย พันธุ์พืช มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยในสาขาต่าง ๆ อาทิ ศิลปะการแสดงและการดนตรี งานช่างฝีมือดั้งเดิม กีฬาภูมิปัญญา พิธีกรรม งานเทศกาล และภาษา เป็นต้น ในชั้นนี้ เห็นควรเร่งสร้างกลไกภายในประเทศที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ อาทิ

4.3.1 สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำระบบฐานข้อมูลการคุ้มครองและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ซึ่งเป็นภารกิจของแต่ละหน่วยงานในปัจจุบัน อาทิ วธ. จัดทำฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สธ. จัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย กษ. จัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาด้านพันธุ์พืช และ ทส. จัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาด้านทรัพยากรพันธุกรรมหรือความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

4.3.2 การสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนดั้งเดิม ชุมชนท้องถิ่น หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ในสาขาศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยที่มีความเสี่ยงที่จะสูญหาย ถูกฉกฉวย ทำให้เสื่อมเสีย หรือสร้างประโยชน์ในทางการค้าและสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์

4.3.3. การบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 รวมทั้ง การผลักดันร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. .... ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม วธ. ที่จะมีการนำร่างกฎหมายฯ ฉบับดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มกราคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ