พณ. เสนอว่า
1. สภาวิชาชีพบัญชีเป็นองค์กรวิชาชีพที่ได้รับการจัดตั้งให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี และมาตรา 7 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่สำคัญ เช่น การออกใบอนุญาต พักใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจของรัฐในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี
2. สภาวิชาชีพบัญชีมิได้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ทำให้ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิดมาใช้บังคับทุกกรณี
3. เพื่อให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรของสภาวิชาชีพบัญชีที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยสุจริตได้รับความคุ้มครอง ในกรณีที่ความเสียหายมิได้เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเพื่อให้บุคลากรของสภาวิชาชีพบัญชีดังกล่าวอยู่ในระบบความรับผิดเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ๆ สมควรกำหนดให้สภาวิชาชีพเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (เจ้าหน้าที่รับผิดเป็นการส่วนตัว เฉพาะกรณีการกระทำละเมิดนั้นไม่ใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่) ซึ่งปัจจุบันพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้กำหนดให้หน่วยงาน 53 แห่ง ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพ 8 แห่ง เช่น แพทยสภา สภาสถาปนิก เป็นต้น เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชกฤษฏีกานี้แล้ว
4. ได้มีการดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิก กรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นปรากฏว่า ร้อยละ 80 เห็นด้วยกับการกำหนดให้สภาวิชาชีพบัญชีเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการกำหนดให้สภาวิชาชีพเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558--