แนวทางดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ข่าวการเมือง Tuesday February 3, 2015 16:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

2. อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption Cooperation Committee)

สาระสำคัญของการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีดังนี้

1. โครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนของสังคมไทยเพื่อสร้างเครือข่ายที่จะร่วมกันสร้างมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่โปร่งใส ลดการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่เข้าร่วมเป็นผู้เสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐมีการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และมีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งให้ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศมีความคุ้มค่ามากที่สุด โดยได้นำแนวคิดข้อตกลงด้านคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาเป็นผู้เสนอราคาหรือเสนองานกับรัฐว่าจะไม่กระทำการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและร่วมกันทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม โดยมีบุคคลภายนอกร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยข้อตกลงดังกล่าวจะมุ่งเน้นการตรวจสอบและลงโทษหากเกิดการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญและถือว่าการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระสำคัญเร่งด่วน โดยการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ส่งเสริมและสนับสนุนภาคีองค์กรภาคเอกชนและเครือข่ายต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอดส่อง เฝ้าระวังตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรในการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมอย่างแท้จริง ซึ่งสรุปขั้นตอนการดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจังจ้างภาครัฐได้ ดังนี้

1.1 การแต่งตั้งคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption Cooperation Committee)

เพื่อให้การดำเนินงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม เห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1.2 องค์ประกอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นรองประธานคนที่ 1 ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานคนที่ 2 คณะกรรมการประกอบด้วย เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) อัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือผู้แทน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการและเลขานุการ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง และผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายการจัดซื้อโดยรัฐระหว่างประเทศ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

1.3 อำนาจหน้าที่ 1) พิจารณากำหนดแนวทางและวิธีการในการดำเนินการโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 2) พิจารณากำหนดรูปแบบ ปรับปรุง เนื้อหาของข้อตกลงคุณธรรม 3) พิจารณาคัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเข้าร่วมโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 4) พิจารณาคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 5) ทบทวน ปรับปรุง และกำหนดหลักเกณฑ์ และแนวทางการดำเนินโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 6) พิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด 7) พิจารณารายงานผลการประเมินผลโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 8) พิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการเป็นผู้สังเกตการณ์ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 9) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามที่คณะกรรมการฯ เห็นสมควร 10) ปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมายสำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมฯ ของคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (Anti-Corruption Cooperation Committee) ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของกรมบัญชีกลาง

2. การคัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้าง

คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตพิจารณาคัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเสนอเพื่อเข้าร่วมโครงการความร่วมมือฯ การจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)

3. การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ (Observers) ตามข้อตกลงคุณธรรม

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกจากสมาคมวิชาชีพ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือภาคประชาสังคมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ๆ โดยจะต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนเสียในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเสนอให้คณะกรรมการความร่วมมือฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ

4. การจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)

ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดให้มีการลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้เสนอราคาและผู้สังเกตการณ์ โดยหากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดร่างข้อตกลงคุณธรรม ทั้งนี้ การกำหนดรูปแบบ เนื้อหาของข้อตกลงคุณธรรมอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตที่จะปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป [ทั้งนี้ ร่างรายละเอียดข้อตกลงคุณธรรมที่กระทรวงการคลังเสนอมาในครั้งนี้เปรียบเทียบกับที่คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 (ที่ใช้กับโครงการนำร่อง 2 โครงการ คือ โครงการจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย)]

5. เงื่อนไขการดำเนินงานที่กำหนดเพิ่มเติม

เงื่อนไขการดำเนินงานที่กำหนดเพิ่มเติมจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 หรือระเบียบข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ได้แก่ การกำหนดให้ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารการเสนอราคา หากผู้เสนอราคาไม่ลงนามในข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact) จะไม่มีสิทธิเข้าร่วมการเสนอราคาในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง

6. ข้อยกเว้น

เนื่องจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีจำนวนมากประกอบกับจำนวนผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มีจำนวนไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการความร่วมมือฯ สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ได้รับการคัดเลือกตามข้อ 3. เห็นควรกำหนดให้มีการปรับข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยลงนามร่วมกันเพียง 2 ฝ่าย ระหว่างหน่วยงานภาครัฐของโครงการ และผู้เข้าร่วมเสนอราคา ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานในกรณีดังกล่าว คณะกรรมการความร่วมมือฯ จะกำหนดต่อไป

7. การประเมินผลโครงการจัดซื้อจัดจ้างตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)

การประเมินผลโครงการจัดซื้อจัดจ้างตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) จากรายงานของผู้สังเกตการณ์ ข้อร้องเรียนจากทุกภาคส่วน และรายงานผลการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจากกรมบัญชีกลาง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติตามหลักการจัดทำ Integrity Pact ของสากลเพื่อขยายผลการดำเนินงานต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ