คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ป.ป.ช. รายงานว่า
1. ปัจจุบันปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งที่เกิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ และพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ของเกษตรกรในพื้นที่เองหรือมีผู้มีอิทธิพลให้การสนับสนุนโดยการกว้านซื้อที่ดินที่ชาวบ้านบุกรุกไว้แล้ว หรือใช้วิธีจ้างวานให้ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ ทั้งเพื่อการเกษตรกรรมและการสร้างที่พักอาศัยรีสอร์ท มีการลักลอบทำไม้ ตัดไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้พะยูง เพื่อส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศเวียดนามและจีน ผ่านทางแม่น้ำโขง เนื่องจากไม้พะยูงมีราคาสูง สาเหตุที่สำคัญในการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ คือ การที่กลไกหลักในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ขาดประสิทธิภาพ กล่าวคือ การดำเนินงานของภาครัฐที่ผ่านมาขาดความเป็นเอกภาพ นโยบายขาดความชัดเจนและต่อเนื่อง หน่วยงานที่รับผิดชอบขาดแคลนทรัพยากรทางการบริหาร ทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้อย่างเต็มที่ กฎหมายมีบทลงโทษต่ำและขาดการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนมีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดทุจริตหรือเกรงกลัวอิทธิพล รวมถึงเมื่อจะกระทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกลับมีแรงเสียดทานจากสังคม ทำให้เกิดการละเลยต่อการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อประเทศในวงกว้าง
2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ศึกษาปัญหาตามกรณีข้อ 1 ทั้งระบบ ทั้งด้านมาตรการป้องกันการทุจริต และมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัจจัยที่เอื้อต่อการทุจริต โดยใช้หลักความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง และทฤษฎีการบริหารธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นกรอบแนวคิด รวมทั้งศึกษากฎหมาย กฎกระทรวงระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยมี 3 มาตรการหลัก ดังนี้ 1.) มาตรการด้านนโยบาย 2.) มาตรการด้านบริหารจัดการ 3.) มาตรการด้านกฎหมาย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558--