คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับค้ำประกันและจำนอง) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้วันใช้บังคับร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลในวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับเพื่อมิให้เกิดผลกระทบในการใช้บังคับกฎหมาย
2. กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม และไม่มีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690
3. กำหนดให้ข้อตกลงที่แตกต่างจากที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกัน ตามมาตรา 686 เป็นโมฆะ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ทำสัญญายกเว้นบทบัญญัติดังกล่าว
4. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ อันมีผลเป็นการ ลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และมีการชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้วภายในกำหนดเวลาชำระหนี้ตามข้อตกลงลดหนี้นั้น
5. กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระสามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้
6. กำหนดให้ผู้มีอำนาจในการจัดการนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้ของนิติบุคคลนั้น สามารถผูกพันตนอย่างผู้ค้ำประกัน โดยทำเป็นสัญญาค้ำประกันต่างหากได้
7. กำหนดบทเฉพาะกาล รองรับสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ร่างกฎหมายมีผลใช้บังคับ เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อสัญญาที่ทำไว้ก่อนดังกล่าว
8. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากการค้ำประกันตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 691 วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ อันเป็นการลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558--