คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพร้อมกับอนุสัญญาแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 ต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดความหมายของกรณีที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทางทะเล เช่น เรือ คนประจำเรือ เจ้าของเรือ ใบรับรองด้านแรงงานทางทะเล ใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล เป็นต้น ให้เป็นบทนิยามเพื่อความสะดวกในการใช้บังคับกฎหมาย
2. กำหนดให้การจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
3. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย และให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น
4. กำหนดให้นำจารีตประเพณีเกี่ยวกับการทำงานของคนประจำเรือ การเดินเรือทะเล และข้อกำหนดหรือมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทางทะเลมาใช้บังคับ ในกรณีที่มิได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกำหนดให้หนี้เงินที่เจ้าของเรือต้องชำระเป็นหนี้ที่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของเจ้าของเรือในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนี้ กำหนดให้ข้อพิพาทเกี่ยวกับแรงงานทางทะเลอยู่ในเขตอำนาจของศาลแรงงาน
5. กำหนดห้ามเจ้าของเรือให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ทำงานบนเรือ และกำหนดห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ ทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัย
6. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขออนุญาตจัดหางานกำหนดให้ผู้ขออนุญาตจัดหางานต้องวางหลักประกันเพื่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดหางาน และกำหนดห้ามผู้รับใบอนุญาตจัดหางานเรียกหรือรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากคนหางานเพื่อไปทำงานเป็นคนประจำเรือ
7. กำหนดให้เจ้าของเรือจัดทำข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ โดยเก็บไว้บนเรือและให้ไว้กับคนประจำเรือ และกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนประจำเรือเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมได้
8. กำหนดกรณีคนประจำเรือเดินทางกลับ โดยให้เจ้าของเรือเป็นผู้ดำเนินการส่งกลับและออกค่าใช้จ่าย และกำหนดให้เจ้าของเรือจัดทำประกันภัยให้แก่คนประจำเรือทุกคน เพื่อส่งคนประจำเรือกลับภูมิลำเนาหรือสถานที่อื่นตามที่ตกลงกัน
9. กำหนดให้เจ้าของเรือต้องจ่ายค่าเสียหายในกรณีที่กำหนดเมื่อคนประจำเรือได้รับผลกระทบจากการที่เรือเสียหายหรือเรือจม
10. กำหนดให้เจ้าของเรือจัดที่พักอาศัยและสถานที่บนเรือให้มีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ และจัดอาหารและน้ำดื่มที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพียงพอต่อคนประจำเรือโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย
11. กำหนดให้เรือเดินทะเลระหว่างประเทศขนาดห้าร้อยตันกรอสขึ้นไปต้องมีใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและให้มีใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเลด้วย
12. กำหนดให้คนประจำเรือและเจ้าของเรือมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรองหรือเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
13. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจขึ้นไปบนเรือเพื่อตรวจสภาพการทำงาน สภาพการจ้าง และสภาพความเป็นอยู่ของคนประจำเรือ เรียกบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ส่งเอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา และมีคำสั่งให้เจ้าของเรือหรือคนประจำเรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้
14. กำหนดให้มีคณะกรรมการแรงงานทางทะเล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานทางทะเลเกี่ยวกับการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัตินี้ และการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่มอบหมาย
15. กำหนดความผิดและโทษแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าของเรือสงวนไว้ไม่เปิดเผย
16. เพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเลที่ออกตามประกาศกระทรวงแรงงานว่าด้วยเรื่องมาตรฐานแรงงานทางทะเล ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นอายุ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558--