การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ

ข่าวการเมือง Wednesday February 18, 2015 15:27 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ

และร่างพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ ....

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศและให้นำอนุสัญญาดังกล่าวเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

3. อนุมัติให้ตั้งข้อสงวนในเรื่องขอบเขตการใช้บังคับอนุสัญญาฯ

4. อนุมัติให้นำวิธีการอนุญาโตตุลาการมาใช้ในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากอนุสัญญาฯ

5. การให้ภาคยานุวัติให้กระทำได้เมื่ออนุสัญญาฯ ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 2 ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

คค. เสนอว่า

1. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่กำหนดและรวบรวมกฎเกณฑ์ที่เป็นรูปแบบเดียวกันเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศซึ่งคนโดยสาร สัมภาระ และของ พร้อมทั้งกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ขนส่งที่มีต่อคนโดยสาร ผู้ตราส่ง และผู้รับตราส่ง และระหว่างผู้ขนส่งทางอากาศด้วยกัน โดยการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศชาติในภาพรวม

2. อนุสัญญาฯ มีหลักการสำคัญเกี่ยวกับเอกสารการรับขน หลักความรับผิด จำนวนจำกัดความรับผิด (Limits of Liability) และการยกเว้นความรับผิดชอบของผู้ขนส่งทางอากาศ การรับขนส่งร่วมกัน การรับขนทางอากาศที่ดำเนินการโดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ขนส่งตามสัญญา และการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการรับขนทางอากาศ ซึ่งในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับคนโดยสาร ผู้ส่งของ/สินค้า และผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ

สาระสำคัญของอนุสัญญาและร่างพระราชบัญญัติ

1. อนุสัญญาฯ

1.1 กำหนดให้อนุสัญญาฯ ใช้บังคับกับการรับขนระหว่างประเทศ ซึ่งคน สัมภาระหรือของ (Cargo) ที่ปฏิบัติการโดยใช้อากาศยานเพื่อสินจ้าง และยังใช้แก่การรับขนให้เปล่า

1.2 กำหนดความรับผิดชอบของผู้ขนส่งและขอบเขตของการชดใช้ความเสียหายให้แก่คนโดยสารกรณีตายหรือบาดเจ็บ ความเสียหายเนื่องจากการขนส่งล่าช้า ตลอดจนความรับผิดชอบระหว่างผู้ขนส่งตามสัญญากับผู้ขนส่งตามความเป็นจริง

1.3 กำหนดเงื่อนไขในการฟ้องเรียกค่าเสียหายในการรับขนคนโดยสาร สัมภาระและของ และเขตอำนาจศาลที่ให้โจทก์สามารถเลือกเสนอคำฟ้องต่อศาลภายในเขตอำนาจตามที่กำหนด

1.4 กำหนดให้สิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นอันระงับสิ้นไปถ้าไม่มีการฟ้องคดีภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่อากาศยานมาถึงปลายทาง หรือนับแต่วันที่อากาศยานนั้นควรจะได้ถึงแล้ว หรือนับแต่วันที่การรับขนได้หยุดลง แล้วแต่กรณี

1.5 กำหนดให้คู่สัญญาในสัญญารับขนของอาจกำหนดว่าการระงับข้อพิพาทใด ๆ เกี่ยวกับความรับผิดของผู้ขนส่งภายใต้อนุสัญญานี้ ให้ระงับโดยอนุญาโตตุลาการ

2. ร่างพระราชบัญญัติ

2.1 กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การรับขนไปรษณีย์ การรับขนทางอากาศที่กระทำโดยหน่วยงานของรัฐ และการรับขนทางอากาศทางราชการทหาร

2.2 กำหนดให้ในกรณีที่อากาศยานเกิดอุบัติเหตุอันเป็นผลให้คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บ ให้ผู้ขนส่งจ่ายเงินล่วงหน้าแก่ผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งในกรณีมีการยกเลิกเที่ยวบินหรือเที่ยวบินล่าช้า ผู้ขนส่งต้องจ่ายค่าเสียหายตามจำนวน หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง การจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการยอมรับผิดของผู้ขนส่ง แต่สามารถนำมาหักค่าเสียหายในภายหลังได้

2.3 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับมอบสัมภาระลงทะเบียน และการส่งมอบสิ่งของในการรับขน

2.4 กำหนดให้ในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับผิดถึงแก่ความตายการฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ฟ้องผู้แทนตามกฎหมายของกองทรัพย์สินของผู้ตาย

2.5 กำหนดให้วิธีคำนวณระยะเวลาการฟ้องคดีให้คำนวณตามกฎหมายของศาลที่พิจารณาคดีนั้น

2.6 กำหนดหลักเกณฑ์ในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย และให้การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาโจทก์มีสิทธิเลือกที่จะเสนอคำฟ้องในอาณาเขตของรัฐภาคีหนึ่งต่อศาลที่ผู้ขนส่งมีภูมิลำเนาศาลที่ผู้ขนส่งมีที่ตั้งที่สำนักงานแห่งใหญ่ มีสถานที่ที่ประกอบธุรกิจซึ่งได้มีการทำสัญญาขนส่งหรือศาล ณ ถิ่นปลายทาง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ