คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการปักหลักเขตควบคุมทางน้ำ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจมอบหมายเป็นหนังสือให้เจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าเป็นผู้ดำเนินการในการปักหลักเขตควบคุมทางน้ำ โดยหลักเขตควบคุมทางน้ำต้องมีตราสัญลักษณ์ของกรมเจ้าท่าแสดงไว้อย่างชัดเจน และมีลักษณะ ขนาด และข้อความตามที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด
2. กำหนดให้การปักหลักเขตควบคุมทางน้ำริมที่ดินที่มิใช่ของรัฐซึ่งมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหรือมีหลักฐานทางที่ดิน ให้เจ้าหน้าที่ปักหลักเขตควบคุมทางน้ำคู่กับหลักเขตที่ดินนั้น ในกรณีที่ไม่พบหลักเขตที่ดินริมทางน้ำ ให้เจ้าหน้าที่รังวัดสอบเขตที่ดินริมทางน้ำ ตามระเบียบว่าด้วยการระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดิน และให้เจ้าหน้าที่ปักหลักเขตควบคุมทางน้ำตามแนวเขตที่ดินที่ได้มีการรับรองแล้ว
3. กำหนดให้การปักหลักเขตควบคุมทางน้ำริมที่ดินที่มิใช่ของรัฐซึ่งไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่มีหลักฐานทางที่ดินตามกฎหมายอื่น ให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์สอบสวนแนวเขตทางน้ำริมที่ดินดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ปักหลักเขตควบคุมทางน้ำตามแนวเขตที่ดินที่ติดทางน้ำนั้นโดยพิจารณาสภาพขอบฝั่ง สภาพของตลิ่ง ที่ดินข้างเคียง และทางน้ำของแต่ละพื้นที่ประกอบด้วย
4. กำหนดให้การปักหลักเขตควบคุมทางน้ำริมที่ดินที่เป็นที่ดินของรัฐซึ่งมีหลักเขตที่ดินริมทางน้ำ ให้เจ้าหน้าที่ปักหลักเขตควบคุมทางน้ำโดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ 2. ในกรณีที่ไม่พบหลัก เขตที่ดินริมทางน้ำที่จะดำเนินการปักหลักเขตควบคุมทางน้ำ ให้เจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐนั้นดำเนินการตรวจสอบแนวเขตที่ดินริมทางน้ำตามอำนาจหน้าที่ก่อน และแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบ เมื่อสามารถกำหนดแนวเขตที่ดินริมทางน้ำได้แน่นอนแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ปักหลักเขตควบคุมทางน้ำตามแนวเขตที่ดินดังกล่าว
5. กำหนดให้การปักหลักเขตควบคุมทางน้ำริมที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะ ให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์สอบสวนแนว เขตที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะก่อนว่า ที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะยังคงเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองอยู่โดยเจ้าของที่ดินได้ครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันอย่างต่อเนื่อง หากปรากฏว่ายังคงมีการครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันอยู่ ให้เจ้าหน้าที่ปักหลักเขตควบคุมทางน้ำตามแนวเขตที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองนั้น
ในกรณีที่เจ้าของที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะมิได้ครอบครองหรือแสดงสิทธิในการหวงกันที่ดินดังกล่าวโดยปล่อยให้เป็นที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ให้เจ้าหน้าที่ปักหลักเขตควบคุมทางน้ำตามแนวเขตที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะ โดยพิจารณาสภาพขอบฝั่ง สภาพของตลิ่ง ที่ดินข้างเคียง และทางน้ำของแต่ละพื้นที่ประกอบด้วย
6. กำหนดให้เมื่อมีการปักหลักเขตควบคุมทางน้ำแล้ว ให้เจ้าหน้าที่จัดทำบันทึกรายละเอียดการปักหลักเขตควบคุมทางน้ำไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งแผนที่แสดงขอบเขตการปักหลักเขตควบคุมทางน้ำโดยสังเขป ทั้งนี้ ตามแบบที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด
7. กำหนดให้ในกรณีที่มีการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของหลักเขตควบคุมทางน้ำเพื่อให้ถูกต้องตามหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานทางที่ดิน หรือการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเพราะเหตุอื่น ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการพิสูจน์สอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และในกรณีที่ปรากฏว่าตำแหน่งของหลักเขตควบคุมทางน้ำที่ปักไว้นั้นไม่ถูกต้อง ให้เจ้าหน้าที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของหลักเขตควบคุมทางน้ำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการปักหลักเขตควบคุมทางน้ำในแต่ละกรณี
8. กำหนดให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการพิสูจน์สอบสวนแนวเขตทางน้ำริมที่ดินที่มิใช่ของรัฐการพิสูจน์สอบสวนแนวเขตทางน้ำริมที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะ และการพิสูจน์สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตำแหน่งของหลักเขตควบคุมทางน้ำ ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมเจ้าท่าประกาศกำหนด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558--