คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2557 และแนวโน้มปี 2558 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2557
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในสามไตรมาสแรก และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ขยายตัวจากไตรมาสที่สาม ร้อยละ 1.7 (QoQ_SA) เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า
1.1 ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และรายจ่ายเพื่อการบริโภคของรัฐบบาล โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.6 สูงกว่า 60.0 61.2 และ 69.3 ในสามไตรมาสแรกของปี 2557 ตามลำดับ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่สาม เนื่องจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการสุทธิและค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ การเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 โดยอัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 29.8 (ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่าย ร้อยละ 32.0) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดก่อสร้างกลับมาขยายตัว ขณะที่การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรชะลอลงเล็กน้อยการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 0.3 เนื่องจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 8.0 แต่การลงทุนภาครัฐบาลขยายตัวร้อยละ 9.4 เพิ่มขึ้นทั้งการก่อสร้างและหมวดเครื่องมือเครื่องจักร
1.2 ด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 56,763 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว ร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (สัดส่วนร้อยละ 88.7 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เป็นร้อยละ 3.1 แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและทองคำลดลงร้อยละ 8.5 และร้อยละ 12.6 ตามลำดับ จึงทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมยังขยายตัวอย่างช้าๆ โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 แต่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 1.1 ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตร สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และกุ้ง ปูกระป๋องและแปรรูป การส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) อาเซียน (9) และออสเตรเลียขยายตัว แต่การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น และจีนลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 4.7 ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่าทั้งสิ้น 49,127 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 5.7 ซึ่งเป็นผลจากการที่มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
1.3 ด้านการผลิต ปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบหลายไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่สาขาค้าส่งค้าปลีกและสาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สาขาเกษตรกรรมลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โดยสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่ผลผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลลดลง เนื่องจากจำนวนวันกรีดยางลดลงในช่วงฝนตกหนักในภาคใต้ ภัยแล้ง และภาวะฝนทิ้งช่วงกลางปี รวมทั้งราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี มันสำปะหลัง อ้อย ปศุสัตว์ และประมงเพิ่มขึ้น สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน จากที่ลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่สาม และเป็นการขยายตัวครั้งแรกใน 6 ไตรมาส โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของความต้องการในต่างประเทศและการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 3.1 การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ เสื้อผ้า เคมีและเคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังหดตัวแต่ในอัตราที่ช้าลง ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารและเครื่องดื่ม และสิ่งทอ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.1 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า สาขาการก่อสร้าง ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสด้วยอัตราร้อยละ 3.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่การก่อสร้างทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัว สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 3.6 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการลดลงร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวครั้งแรกหลังจากที่หดตัวติดต่อกันในสามไตรมาสก่อนหน้า โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยซึ่งเริ่มกลับสู่ภาวะปกติที่ร้อยละ 64.2 ใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556
1.4 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.6อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 1.1 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 316,767 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.2 ของ GDP
2. เศรษฐกิจไทย ปี 2557
เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภคของครัวเรือน และสาขาเกษตรกรรม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.8 0.3 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับแต่การลงทุนรวม และสาขาอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ สาขาโรงแรมและภัตตาคารลดลงร้อยละ 2.1 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 24.8 ล้านคน (ลดลงร้อยละ 6.7) มูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ 224,792 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 0.3 เนื่องจากการลดลงของราคาส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะราคาข้าวและยางพารา ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2557 ยังเป็นไปอย่างช้าๆ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังคงมีเสถียรภาพ โดยที่อัตราการว่างงานทั้งปีเท่ากับร้อยละ 0.8 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 1.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.8 ของ GDP
3. แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2558
เศรษฐกิจไทย ปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว (3) การเร่งรัดการใช้จ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ (4) การเริ่มกลับมาขยายตัวของปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ และ (5) การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างไรก็ดี การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) ภาคเกษตรยังมีข้อจำกัดจากราคาในตลาดโลกที่ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน (2) ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความผันผวนในเกณฑ์สูง และ (3) แนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งในด้านดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรก และต้องติดตามและประเมินสถานการณ์การปรับตัวของสถานการณ์ด้านราคาในช่วงครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด ด้านการส่งออกสินค้าคาดว่ามูลค่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.9 และร้อยละ 6.0 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.0 – 1.0 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.9ของ GDPโดยรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2558 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
(1) การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ0.3 ในปี 2557 และปรับเพิ่มจากการประมาณการร้อยละ 2.6 ในครั้งก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงและรายได้ที่แท้จริงของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในปี 2557 ตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐ
(2) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 ปรับเพิ่มจากร้อยละ 4.8 ในการประมาณการเดิมเนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ฟื้นตัว การเร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน การเร่งรัดดำเนินการในส่วนของภาครัฐในขั้นตอนการอนุมัติต่าง ๆ รวมทั้งจากการที่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ในขณะการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.8 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2557 จากการเร่งรัดงบประมาณรายจ่ายลงทุนและการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของภาครัฐ
(3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.3 ในปี 2557 แต่เป็นการปรับลดการประมาณลงจากร้อยละ 4.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่งผลให้การส่งออกไปประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมสำหรับการส่งออกภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยรวมคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 4.0ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการขยายตัวร้อยละ 0.0 ในปี 2557
4. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2558
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2558 ต้องให้ความสำคัญกับ (1) การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนให้การผลิตภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มเติมจากมาตรการการให้เงินช่วยเหลือการผลิตและมาตรการสินเชื่อต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว (2) การดูแลธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญๆ (3) การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเสริมและการยกระดับทักษะสำหรับแรงงานนอกระบบรายได้ต่ำและแรงงานในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว (4) การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 4.0 (5) การเร่งรัดการพิจารณาอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนที่ยังคงค้างการพิจารณาและโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ในช่วงปลายปี 2557 รวมทั้งเร่งรัดติดตามให้โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วให้ดำเนินการลงทุนโดยเร็ว (6) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และ (7) การเร่งรัด ติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2558 การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ การเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมทั้งโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558--