ยธ. เสนอว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านการลักลอบผลิตและจำหน่าย รวมถึงวิธีการและตัวยาเสพติดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัย ต่าง ๆ ทำให้กฎหมายที่ใช้บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบ ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์บางชนิด ส่งผลให้มาตรการริบทรัพย์สินผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดขาดประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 โดยการระบุชื่อยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ชนิดที่มีความต้องการใช้หรือมีการแพร่ระบาดสูงในกลุ่มผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดหรือกลุ่มผู้ผลิตที่ต้องการนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดชนิดอื่น ๆ (เพิ่มเติม)
สาระสำคัญของกฎกระทรวง
แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 โดยการระบุชื่อยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชนิดที่มีการแพร่ระบาดสูงหรือสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดชนิดอื่น ๆ เป็น “ยาเสพติด” ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 (เพิ่มเติม) รวมทั้งสิ้น 10 ชนิด ได้แก่ ซาฟรอล ไดเมทิลแอมเฟตามีน ไนตราซีแพม ไนเมตาซีแพม ฟีนาซีแพม เฟนนิลโพรพาโนลามีน เมทิลีนไดออกซิไพโรวาเลโรน เมทิโลน เมฟีโดรนและไอโซซาฟรอล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558--