สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงพลังงาน (พน.) และสำนักนายกรํบมนตรี (นร.) ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ โดยมีแนวคิดให้จังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลักตามระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) เน้นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวจะทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและในระดับท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และภาคประชาชน ซึ่งแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. กรอบแนวคิด “120 วัน คืนฟ้าใส อากาศบริสุทธิ์ ให้ชุมชน” โดยให้จังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลักตามระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) เน้นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุในลักษณะพื้นที่ – หน้าที่ – การมีส่วนร่วม (Area – Function –Participation) ตามภารกิจความรับผิดชอบของหน่วยงาน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้นำแกนนำ อาสาสมัคร และประชาชน
2. ระยะเวลาดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะเร่งด่วน (มกราคม – เมษายน 2558) (2) ระยะกลาง (2558 - 2562) (3) ระยะยาว (2558 - 2567)
3. พื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก
4. ตัวชี้วัดความสำเร็จ ประกอบด้วย (1) ร้อยละของจำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานลดลง (2) จำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ลดลง
5. กลไกกำกับดูแล กำกับและติดตามผลการดำเนินงาน โดยผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีบูรณาการร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
6. มาตรการ/แนวทางการดำเนินงาน ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ใน 3 ระยะ (ตามข้อ 2)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558--