สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องดังต่อไปนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของผู้บริหาร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 ตรี (5)) จากเดิมที่กำหนดว่า “ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษหรือพ้นระยะเวลาการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ แล้วแต่กรณีเกินห้าปี” เป็น “ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ” เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับลักษณะต้องห้ามของข้าราชการพลเรือ (ร่างมาตรา 3)
2. แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของพนักงานรัฐวิสาหกิจ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 (5)) จากเดิมที่กำหนดว่า “ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษหรือพ้นระยะเวลาการรอลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ แล้วแต่กรณีเกินห้าปี” เป็น “ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษแล้วเกินห้าปี” เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับลักษณะต้องห้ามของข้าราชการพลเรือนที่จะต้องได้รับโทษจำคุกจริงและเพื่อให้พนักงานรัฐวิสาหกิจที่พ้นโทษแล้วเกินห้าปี สามารถกลับเข้าทำงานได้ (ร่างมาตรา 4)
3. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16 โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายแทนนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ในปัจจุบัน (ร่างมาตรา 5)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2558--