ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday March 10, 2015 16:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) และกระทรวงพาณิชย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้ใช้บังคับกับสัตว์ประเภท โค กระบือ แพะ แกะ สุกร นกกระจอกเทศ ไก่ เป็ด ห่าน และสัตว์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมโยธาธิการและการผังเมือง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และนายกสัตวแพทยสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

3. กำหนดให้ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการฆ่าสัตว์ยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมด้วยแผนงานการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ต่อนายทะเบียน หลังจากนั้นต้องมีการเห็นชอบแผนงานการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยคณะกรรมการประจำจังหวัด และเมื่อได้รับความเห็นชอบแผนงานการประกอบกิจการฆ่าสัตว์แล้ว ผู้ขอรับใบอนุญาตจึงดำเนินการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เมื่อก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ และติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการประกอบกิจการฆ่าสัตว์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องแจ้งให้คณะกรรมการประจำจังหวัดมาตรวจสอบว่าก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์เป็นไปตามแผนงานการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ที่ได้รับความเห็นชอบหรือไม่ เพื่อเสนอให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตต่อไป

4. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะเลิกประกอบกิจการฆ่าสัตว์ต้องมีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนเลิกประกอบกิจการและต้องดำเนินการดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยภายในโรงฆ่าสัตว์และโรงพักสัตว์ให้อยู่ในสภาพที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่บริเวณใกล้เคียง หากผู้รับใบอนุญาตมิได้ดำเนินการดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยดังกล่าวให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งและกำหนดระยะเวลาให้ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ หากผู้รับใบอนุญาตมิได้ดำเนินการหรือดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนหรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายเข้าดำเนินการแทน โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 25 ต่อปีของค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการ

5. กำหนดขั้นตอนการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์และการจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ตายโดยมิได้ถูกฆ่า โดยให้พนักงานตรวจโรคสัตว์ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดมีอำนาจหน้าที่ตรวจโรคสัตว์ทั้งก่อนการฆ่าสัตว์และหลังการฆ่าสัตว์แล้วยังมีอำนาจในการสั่งงดการฆ่าสัตว์และแยกสัตว์ไว้เพื่อตรวจพิสูจน์ได้ กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าสัตว์ที่จะฆ่า เป็นโรคระบาด หรือเป็นโรคหรือมีลักษณะไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์นั้นเป็นอาหาร สั่งให้ดำเนินการฆ่าสัตว์ได้หากตรวจพิสูจน์แล้วพบว่าสัตว์ที่จะฆ่าไม่เป็นโรคหรือมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นอาหาร หรือสั่งงดการฆ่าสัตว์และแจ้งพนักงานท้องถิ่นให้คืนเงินอากรการฆ่าสัตว์ กรณีสัตว์ที่จะฆ่าสัตว์เป็นโรคระบาดหรือเป็นโรคหรือมีลักษณะไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์นั้นเป็นอาหาร

6. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาที่เห็นสมควร แต่ในกรณีผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รายงานการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวต่อผู้อนุญาตเพื่อพิจารณาพักใช้ใบอนุญาต หากผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตและได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ถูกพักใช้ใบอนุญาตอีกภายใน 1 ปี ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ วิธีการก่อนออกคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตและการอุทธรณ์คำสั่งให้เป็นไปตามที่กำหนด

7. กำหนดเพิ่มเติมอำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติงาน

8. กำหนดเพิ่มโทษอาญาให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น และกำหนดให้อธิบดีกรมปศุสัตว์มีอำนาจเปรียบเทียบคดีได้ทุกฐานความผิด ยกเว้นความผิดกรณีฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ชำแหละและตัดแต่งเนื้อสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มิได้รับการรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ หรือฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์

9. กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ 5 มาตรา ตั้งแต่ร่างมาตรา 62 – มาตรา 66 เพื่อให้สามารถดำเนินการบังคับใช้กฎหมายได้โดยไม่หยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการฆ่าสัตว์มีอายุ 5 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต เมื่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว ใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 ยังมีผลใช้บังคับและให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตตามร่างพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. .... และให้ใบอนุญาตดังกล่าวมีอายุ 5 ปีนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ