ร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday March 10, 2015 17:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523

2. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

3. กำหนดให้มีคำนิยามคำว่า “โรคติดต่อ” “โรคติดต่ออันตราย” “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” “โรคระบาด” เป็นต้น

4. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการประกาศชื่อ อาการสำคัญของโรคติดต่อ โรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และโรคระบาด

5. กำหนดให้มีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

6. ให้กรมควบคุมโรคทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการด้านวิชาการ และคณะอนุกรรมการ โดยให้รับผิดชอบงานธุรการ และเป็นหน่วยงานกลางในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อของประเทศ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

7. กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีองค์ประกอบตามที่กำหนด โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด

8. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฝ้าระวัง การป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ

9. กำหนดให้มีเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด และให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

10. กำหนดให้มีการจ่ายค่าทดแทนกรณีการดำเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้หนึ่งผู้ใด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ