การรับรองร่างกรอบการดำเนินงานลดความเสี่ยงภัย หลังปี 2558 สำหรับการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

ข่าวการเมือง Tuesday March 10, 2015 17:50 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรับรองร่างกรอบการดำเนินงานลดความเสี่ยงภัย หลังปี 2558 สำหรับการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้ มท. ร่วมรับรองร่างเอกสาร 2 ฉบับ คือ ร่างกรอบการดำเนินงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หลังปี 2558 (Post-2015 Framework for Disaster Risk Reduction) และร่างปฏิญญาเซนได (Sendai Declaration) โดยที่สาระสำคัญของร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวสอดคล้องกับกรอบกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อีกทั้งเป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองโดยมิได้มีพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

2. ในกรณีที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ไขร่างเอกสารฯ มีการแก้ไขร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือขัดผลประโยชน์ของไทย อนุมัติให้ มท. และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ร่วมกันพิจารณาและดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก

สาระสำคัญของเรื่อง

ร่างกรอบการดำเนินงานฯ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งกรอบการดำเนินงานฯ ฉบับใหม่จะเป็นแนวทางการปฏิบัติสากลด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระยะ 15 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2558-2573) โดยเป็นผลมาจากการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันของภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งรวมถึงผลที่ได้จากการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศสมาชิกรวมถึงประเทศไทยมีพันธกิจที่จะต้องนำหลักการและแนวทางที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบททางกฎหมาย สังคม และวัฒนธรรมของประเทศ มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

1. เป้าหมาย ดำเนินการป้องกันความเสี่ยงการเกิดภัยพิบัติและการลดความเสี่ยงภัยพิบัติที่มีอยู่โดยใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งลดความล่อแหลม ความเปราะบาง และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการพร้อมรับ ปรับตัว และฟื้นกลับเร็วเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยเน้นให้ความสำคัญกับการร่วมมือระหว่างประเทศ

2. พันธกิจ ประกอบด้วย 4 ภารกิจหลัก ได้แก่ การเข้าใจความเสี่ยง การส่งเสริมธรรมาภิบาลและความเข้มแข็งของสถาบันในการจัดการความเสี่ยงภัย การลงทุนในภาคเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่รู้รับปรับตัว และการเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมเพื่อการรับมือที่มีประสิทธิภาพ

3. บทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเป็นผู้มีบทบาทหลักในการจัดหาและสนับสนุนภาครัฐ ตามนโยบายแห่งชาติในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบนโยบาย

4. การร่วมมือระดับนานาชาติและระดับโลก ให้ความสำคัญกับประเทศที่ภัยพิบัติมีการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่เป็นเกาะ ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และประเทศในทวีปแอฟริกา เนื่องจากมีความเปราะบางสูงและขาดศักยภาพในการรับมือและฟื้นตัวจากความเสี่ยงภัย โดยอาศัยความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ ในการเสริมศักยภาพ

5. ผลที่คาดว่าจะได้รับ ลดความสูญเสียจากภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากร

ร่างปฏิญญาเซนไดเป็นปฏิญญาทางการเมืองซึ่งผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากทั่วโลกจะให้การรับรองในระหว่างการประชุม WCDRR ครั้งที่ 3 โดยเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองและความมุ่งมั่นของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงทุกภาคส่วนที่จะร่วมมือกันดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ