คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดนิยามคำว่า “ทุนหมุนเวียน” ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ หมายถึงกองทุน กองทุนหมุนเวียน เงินทุน เงินทุนหมุนเวียน ทุน หรือทุนหมุนเวียน ที่ตั้งขึ้นเพื่อกิจการที่อนุญาตให้นำรายรับสมทบทุนไว้ใช้จ่ายได้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และกำหนดนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” “คณะกรรมการ” “คณะกรรมการบริหาร” “ผู้บริหารทุนหมุนเวียน”
2. กำหนดให้ในกรณีที่ทุนหมุนเวียนใดมีกฎหมายกำหนดบทบัญญัติในเรื่องใดไว้เป็นการเฉพาะ ให้การดำเนินงานของทุนหมุนเวียนนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายมิได้บัญญัติไว้ ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ
3. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ
4. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลในส่วนการขอจัดตั้ง การบริหาร คณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน ผู้บริหารทุนหมุนเวียน พนักงานและลูกจ้าง การบัญชีและการตรวจสอบ และการประเมินผล
5. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยให้นำบทบัญญัติในส่วนการขอจัดตั้ง ทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล มาใช้บังคับ และให้นำบทบัญญัติในส่วนการบริหาร คณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง การบัญชีและการตรวจสอบ และการประเมินผล ทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล มาใช้บังคับกรณีกฎหมายมิได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะโดยอนุโลม
6. กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนมีอำนาจรวม หรือยุบเลิกทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลและทุนหมุนเวียนที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
7. กำหนดหลักเกณฑ์การรวมทุนหมุนเวียน เมื่อทุนหมุนเวียนที่จะรวมกันนั้นมีวัตถุประสงค์เดียวกันหรือสามารถดำเนินการร่วมกันได้ และจะต้องไม่มีผลเป็นการขยายวัตถุประสงค์เกินกว่าวัตถุประสงค์เดิมของทุนหมุนเวียนที่นำมารวมกันนั้น
8. กำหนดหลักเกณฑ์การยุบเลิกทุนหมุนเวียน กรณีหมดความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง กรณีหยุดการดำเนินงานทุนหมุนเวียนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร กรณีมีผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดเป็นเวลาสามปีติดต่อกันและคณะกรรมการเห็นสมควรให้ยุบเลิกทุนหมุนเวียนนั้น กรณีมีเหตุอื่นต้องยุบเลิกทุนหมุนเวียนตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
9. กำหนดบทเฉพาะกาล ให้นำกฎ ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับทุนหมุนเวียนซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับไปพลางก่อน เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะได้ออกข้อบังคับ ประกาศ และหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องดำเนินการภายในเวลาไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กำหนดให้กรรมการบริหารทุนหมุนเวียนซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง และกำหนดให้ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของทุนหมุนเวียนตามสัญญาจ้างซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2558--