ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday March 17, 2015 17:57 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสนอ แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...

1.1 แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหปประชาชาติ

1.2 ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาพฤติการณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการดำเนินการแทนของบุคคล หรือตามคำสั่ง หรือภายใต้การควบคุมของบุคคลที่ถูกกำหนด ที่ต้องมีพฤติการณ์ดังกล่าวอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด

1.3. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศและการแจ้งรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด

1.4. ปรับปรุงบทกำหนดโทษกรณีบุคคลที่ถูกกำหนดหรือบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนดหรือการดำเนินงานของนิติบุคคล

1.5 กำหนดให้ความผิดตามที่กำหนดซึ่งนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดเป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้

2. ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” และ “สถาบันการเงิน”

2.2 เพิ่มลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดฐานฟอกเงิน

2.3 แก้ไขเพิ่มเติมการรายงาน การแสดงตน การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และการสั่งให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย

2.4 ปรับปรุงองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และการประชุมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกำหนดวิธีการสรรหา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

2.5 ปรับปรุงองค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และการประชุมและการออกคำสั่งของคณะกรรมการธุรกรรม และกำหนดวิธีการสรรหา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและการพ้นจากตำแหน่งขอกรรมการธุรกรรม

2.6 แก้ไขเพิ่มเติมการรายงานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ เมื่อมีการสั่งยับยั้งการทำธุรกรรม

2.7 แก้ไขเพิ่มเติมการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการธุรกรรม

2.8 กำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือผู้ช่วยเหลือผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบที่ถูกฟ้องหรือดำเนินคดีให้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

2.9 ยกเลิกการกำหนดให้คณะกรรมการธุรกรรม และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทำรายงานสรุปการดำเนินการของคณะกรรมการธุรกรรมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

2.10 กำหนดให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีอำนาจเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนในการต่อต้านการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รวมถึงแจ้งรายชื่อผู้มีหน้าที่รายงานที่ฝ่าฝืนไปยังหน่วยงานกำกับดูแล

2.11 แก้ไขเพิ่มเติมให้เลขาธิการมีหน้าที่ควบคุมดูแลราชการของสำนักงานและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

2.12 กำหนดให้ตำแหน่งเลขาธิการมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการห้ามดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ภายในสองปีเมื่อพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ

2.13 ปรับปรุงอำนาจในการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน และกำหนดให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มี ใช้และพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนตลอดจนยุทธภัณฑ์ได้ตามพระราชบัญญัตินี้

2.14 แก้ไขเพิ่มเติมระยะเวลาการเก็บรักษาทรัพย์สินก่อนที่จะตกเป็นของกองทุนกรณีที่ไม่มีผู้มาขอรับคืน

2.15 แก้ไขเพิ่มเติมการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน

2.16 แก้ไขเพิ่มเติมการนำทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินส่งเข้ากองทุนและปรับปรุงระยะเวลาการเก็บรักษาทรัพย์สินก่อนที่จะตกเป็นของกองทุนกรณีที่ไม่มีผู้มาขอรับคืน

2.17 กำหนดแนวทางในการพิจารณาดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งสามารถดำเนินการตามกฎหมายอื่นได้

2.18 กำหนดโทษผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการซึ่งฝ่าฝืนเงื่อนเวลาในการไปดำรงตำแหน่งหรือเป็นลูกจ้างของหน่วยงานที่เป็นผู้มีหน้าที่รายงาน

2.19 แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและอัตราโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

3. ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2542 เพื่อกำหนดให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นหน่วยงานที่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ