ผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2557

ข่าวการเมือง Monday March 30, 2015 07:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2557 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ทก. โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้ทำการสำรวจแรงงานนอกระบบเป็นประจำทุกปี โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีครัวเรือนตัวอย่าง จำนวน 83,880 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชากรที่เป็นตัวอย่างประมาณ 293,580 คน ซึ่งขนาดตัวอย่างดังกล่าวนำเสนอข้อมูลในระดับจังหวัด ภาค และยอดรวมทั้งประเทศ สำหรับแนวคิดและคำนิยามที่ใช้ในการสำรวจใช้ตามสภาพที่เหมาะสมกับประเทศไทย และตามข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และหน่วยงานสหประชาชาติ (UN) สำหรับ พ.ศ. 2557 ในภาพรวมแรงงานนอกระบบมีจำนวนลดลง 3.0 แสนคน (จาก 25.1 ล้านคน เป็น 22.1 ล้านคน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 ซึ่งสรุปสาระสำคัญจากการสำรวจได้ ดังนี้

1. จำนวนแรงงานนอกระบบ ในจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.4 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 22.1 ล้านคน หรือร้อยละ 57.6 และแรงงานในระบบ 16.3 ล้านคน หรือร้อยละ 42.4 สำหรับแรงงานนอกระบบ เมื่อพิจารณาตามเพศ พบว่า เพศชายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย คือเพศชาย 12.1 ล้านคน หรือร้อยละ 54.8 และเพศหญิง 10.0 ล้านคน หรือร้อยละ 45.2 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด นอกจากนั้นแรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดร้อยละ 35.1 รองลงมาเป็นภาคกลางร้อยละ 22.8 ภาคเหนือร้อยละ 21.4 ภาคใต้ร้อยละ 13.7 และกรุงเทพมหานครร้อยละ 7.0

2. ระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรงงานนอกระบบ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามากที่สุด ประมาณ 14.0 ล้านคน หรือร้อยละ 63.4 รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษา 6.2 ล้านคน หรือร้อยละ 28.1 และระดับอุดมศึกษา 1.8 ล้านคน หรือร้อยละ 8.2

3. การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแรงงานนอกระบบ พบว่า แรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมโดยมีจำนวนถึง 12.5 ล้านคน หรือร้อยละ 56.9 รองลงมาทำงานอยู่ในภาคการค้าและการบริการจำนวน 7.2 ล้านคน หรือร้อยละ 32.4 และภาคการผลิตจำนวน 2.4 ล้านคน หรือร้อยละ 10.7

4. การได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน มีจำนวน 3.9 ล้านคน จากจำนวนแรงงานนอกระบบ 22.1 ล้านคน โดยลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บเกิดจากการถูกของมีคมบาดมากที่สุดร้อยละ 64.5 รองลงมาเป็นพลัดตกหกล้ม ร้อยละ 17.9 การชนและกระแทกร้อยละ 6.5 ไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกร้อยละ 4.9 อุบัติเหตุจากยานพาหนะร้อยละ 2.7 ได้รับสารเคมีเป็นพิษร้อยละ 1.8 และไฟฟ้าช็อตร้อยละ 0.5

5. ปัญหาของแรงงานนอกระบบ จากผลการสำรวจแรงงานนอกระบบต่อปัญหาต่าง ๆ จากการทำงานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา พบว่า ปัญหาจากการทำงานที่แรงงานนอกระบบต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ ปัญหาการเกี่ยวกับค่าตอบแทนร้อยละ 52.6 รองลงมาเป็นการทำงานหนักร้อยละ 20.2 และงานที่ทำไม่ได้รับการจ้างอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15.5 และอื่นๆ เช่น ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ทำงานไม่ตรงเวลาปกติ ชั่วโมงทำงานมากเกินไปและลาพักผ่อนไม่ได้เป็นต้น

ปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่แรงงานนอกระบบประสบมากที่สุด คือ อิริยาบถในการทำงาน (ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงาน) ร้อยละ 39.5 มีฝุ่น ควัน กลิ่น ร้อยละ 25.6 และมีแสงสว่างไม่เพียงพอร้อยละ 15.0

ปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ส่วนใหญ่ ได้รับสารเคมีเป็นพิษร้อยละ 62.7 เครื่องจักร เครื่องมือ ที่เป็นอันตรายร้อยละ 17.2 และทำงานในที่สูง/ใต้น้ำ/ใต้ดินร้อยละ 6.0

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ