คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง เป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดห้าร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2. กำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เลขที่ มกษ. 9041 – 2557 ตามประกาศ กษ. เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
2.1 ขอบข่าย มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ กำหนดหลักปฏิบัติสำหรับการผลิตสินค้าเกษตร แช่เยือกแข็ง ประเภท เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ สัตว์น้ำ และผักผลไม้
2.2 นิยาม
1) สินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง (frozen agricultural commodity) หมายถึง สินค้าเกษตรที่ผ่านกระบวนการลดอุณหภูมิ จนอุณหภูมิ ณ จุดที่มีอุณหภูมิสูงสุดของสินค้าถึง – 18 C หรือต่ำกว่า และคงอุณหภูมินี้ไว้ในทุกขั้นตอนรวมถึงการขนส่งโดยให้มีความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิภายในช่วงที่ยอมให้ได้
2) คลาดเคลื่อนของอุณหภูมิ (temperature tolerances) หมายถึง อุณหภูมิของสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งที่ไม่คงที่ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ในระหว่างขั้นตอนการผลิตจนถึงการขนส่งแต่ยังอยู่ที่ช่วงที่ยอมให้ได้ ตามข้อกำหนดในมาตรฐานนี้และไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์
2.3 ข้อกำหนด
1) สถานประกอบการ ทำเลที่ตั้ง อยู่ในบริเวณที่ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนที่มีผลเสียต่อความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าแช่เยือกแข็ง
2) โรงงานและสายการผลิต ออกแบบโรงงานและสายการผลิตเพื่อให้การแปรรูป การแช่เยือกแข็งและการเก็บรักษาสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งได้รวดเร็วสามารถป้องกันการปนเปื้อน และอาคารผลิตต้องแข็งแรง ง่ายต่อการทำความสะอาดและบำรุงรักษา
3) ห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็ง
(1) ผนัง พื้น เพดานและประตูของห้องเย็นให้บุฉนวนกันความร้อน
(2) ออกแบบห้องเย็นให้มีอากาศไหลเวียนผ่านผลิตภัณฑ์ที่เก็บอย่างเพียงพอ
(3) มีการป้องกันการรั่วออกของอากาศเย็น และป้องกันการรั่วไหลของสารทำความเย็น ถ้ามีการรั่วไหลต้องมีมาตรการแก้ไขโดยทันที
(4) มีระบบและอุปกรณ์ในการควบคุมและบันทึกอุณหภูมิได้อย่างสม่ำเสมอ
4) การควบคุมการปฏิบัติงาน
(1) มีน้ำ น้ำบริโภคและ/หรือน้ำแข็งที่สะอาดมีคุณภาพเหมาะสมตามวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(2) การจัดการและการกำกับดูแล โดยมีระบบควบคุมการปฏิบัติงาน มีเอกสารขั้นตอนการดำเนินงานที่ถูกต้อง และมีแผนและมีการดำเนินงานตามแผน
(3) การตามสอบและการเรียกคืน โดยมีเอกสารแสดงขั้นตอนการตามสอบ และการเรียกคืน ซึ่งระบุรุ่นการผลิตบนฉลากหรือเอกสารกำกับสินค้า
5) การควบคุมกระบวนการผลิต เก็บรักษาและขนส่ง
(1) มีระบบการตรวจรับวัตถุดิบ การเก็บรักษาวัตถุดิบ การคัดแยกและคัดทิ้งวัตถุดิบที่ไม่เหมาะสม รวมถึงควบคุมระยะเวลาและอุณหภูมิในระหว่างการเตรียมวัตถุดิบอย่างเหมาะสม
(2) การแปรรูปก่อนการแช่แข็ง โดยการควบคุมระยะเวลาและอุณหภูมิในกระบวนการก่อนการแช่เยือกแข็ง
(3) กระบวนการแช่เยือกแข็ง โดยออกแบบกระบวนการแช่เยือกแข็งให้ลดอุณหภูมิที่จุดที่มีอุณหภูมิสูงสุด (thermal centre) ของวัตถุดิบให้เร็วที่สุดจนถึง - 18 C หรือตกต่ำกว่า และหลังกระบวนการแช่เยือกแข็งต้องนำผลิตภัณฑ์ไปห้องเก็บรักษาให้เร็วที่สุดและรักษาอุณหภูมิผลิตภัณฑ์ให้อยู่ที่ - 18 C หรือต่ำกว่า
(4) การบรรจุ กำหนดภาชนะบรรจุต้องสะอาดและไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อน การบรรจุต้องรวดเร็ว วิธีการบรรจุต้องปกป้องสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งจากการสูญเสียน้ำ และจากจุลินทรีย์และสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ
(5) การเก็บรักษาสินค้าเกษตรแช่เยือกแข็งกำหนดให้ต้องควบคุมห้องเก็บรักษาให้รักษาอุณหภูมิผลิตภัณฑ์ให้อยู่ที่ - 18 C หรือต่ำกว่าการจัดวางผลิตภัณฑ์ในห้องเก็บรักษาเป็นสัดส่วน สามารถป้องกันการปนเปื้อน มีช่องว่างให้อากาศเย็นหมุนเวียนได้ และต้องมีป้ายระบุชนิดค้าสินค้าชัดเจน และไม่เก็บสินค้าเกินอายุการเก็บผลิตภัณฑ์ที่กำหนดไว้
(6) มีระบบตรวจเฝ้าระวังอุณหภูมิ อุปกรณ์ตรวจเฝ้าระวังอุณหภูมิต้องมีความถูกต้องและความละเอียดของการวัดที่เหมาะสม มีแผนการดำเนินการและบันทึกการดำเนินการสอบเทียบและ/หรือ ทวนสอบเครื่องมือวัด
(7) การจัดการผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา โดยระงับการส่งออกจำหน่วย กรณีผลิตภัณฑ์ส่งออกจากสถานประกอบการไปแล้ว ผู้ประกอบการต้องแจ้งผู้เกี่ยวข้อง และ/หรือ หน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มีนาคม 2558--