1. อนุมัติแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558
2. มอบหมายให้กระทรวง กรม องค์กรและหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น ๆ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558
3. มอบหมายให้สำนักงบประมาณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการป้องกันและลดผลกระทบการเตรียมความพร้อม การเผชิญเหตุและการจัดการในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน
4. มอบหมายให้หน่วยงานแต่ละระดับ จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์และบรรจุแผนงานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) รายงานว่า
เนื่องจากแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ฉบับเดิม พ.ศ. 2553-2557 ได้หมดวาระลง ซึ่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 44 ได้บัญญัติให้ในกรณีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาธารณภัยหรือการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่กำหนดไว้ในแผนต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เปลี่ยนแปลงไปหรือแผนดังกล่าวได้ใช้มาครบห้าปีแล้วให้เป็นหน้าที่ของผู้ซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำแผน ปรับปรุง หรือทบทวนแผน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนโดยเร็ว ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะฝ่ายเลขานุการ ปกภ.ช. จึงได้เริ่มกระบวนการขั้นตอนการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติขึ้น ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งแผนฯ ฉบับนี้เป็นการนำเนื้อหาของแผนฉบับเดิมมาปรับให้เข้ากับแผนบูรณาการระดับกระทรวง และแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด (เช่น กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. เป้าหมายการจัดการสาธารณภัย
บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว พื้นที่ประสบภัยได้รับการฟื้นฟูบูรณะอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อสร้างมาตรฐานในการจัดการสาธารณภัยของประเทศ
1.2 สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการเรียนรู้และมีภูมิคุ้มกันในการจัดการสาธารณภัย โดยให้ท้องถิ่นชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสาธารณภัยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
1.3 ประชาชนมีความตระหนักถึงความปลอดภัยโดยให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ความตระหนักและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย การพัฒนาศักยภาพสังคมและท้องถิ่น เพื่อเข้าสู่ “การรู้รับ – ปรับตัว –ฟื้นเร็วทั่ว – อย่างยั่งยืน” (Resilience)
2. วัตถุประสงค์ของแผน
2.1 เพื่อเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติให้แก่หน่วยงานทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศ ในการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างบูรณาการเป็นระบบ และมีทิศทางเดียวกัน
2.2 เป็นการประมวลแนวคิดและทิศทางการจัดการสาธารณภัยที่นานาประเทศใช้อยู่ในปัจจุบัน และได้ยอมรับให้เป็นแนวคิดในการจัดการสาธารณภัยที่สอดคล้องกับบริบทของไทยและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำแผนระดับต่าง ๆ เช่น แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ แผนปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
2.3 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย ประกอบด้วย การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย (Disaster Risk Reduction) การจัดการในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Management) และการฟื้นฟูให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม (Build Back Better and Safer) ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่นระดับประเทศรวมไปถึงระดับนานาประเทศให้มีความเสียหายน้อยที่สุดเมื่อเกิดสาธารณภัย
3. นโยบายและยุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงสาธารณภัย ได้แก่
3.1 การพัฒนาและส่งเสริมการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยด้วยการป้องกัน การลดผลกระทบและการเตรียมความพร้อมให้มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้เป็นชุมชนปลอดภัย ส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาป้องกันเพื่อให้เกิดการรับรู้และปรับตัวต่อผลกระทบจากสาธารณภัยสู่การจัดการอย่างยั่งยืน (ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การมุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย)
3.2 การบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉินให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลพร้อมทั้งการบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และทันเหตุการณ์ (ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การบูรณาการจัดการในภาวะฉุกเฉิน)
3.3 การพัฒนาระบบการฟื้นฟูให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้ประสบภัยได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พื้นที่ประสบภัยได้รับการซ่อมสร้างและฟื้นสภาพให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วหรือดีกว่าเดิม (ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน)
3.4 การพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐานความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ (ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการสาธารณภัย)
4. องค์ประกอบของแผนฯ ประกอบด้วย บทที่ 1 : สถานการณ์และแนวโน้มสาธารณภัยในอนาคต บทที่ 2 : นโยบายและยุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย บทที่ 3 : หลักการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย บทที่ 4 : การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย บทที่ 5 : การจัดการในภาวะฉุกเฉิน บทที่ 6 : การฟื้นฟู บทที่ 7 : ความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย บทที่ 8 : การขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ และภาคผนวก
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มีนาคม 2558--