โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 500,000 บาท ประมาณ 818,000 ราย หนี้สินประมาณ 116,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. โครงการปลดเปลื้องหนี้สิน (1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีศักยภาพหรือมีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้องรัง และมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ประมาณ 28,000 ราย หนี้สินประมาณ 4,000 ล้านบาท (2) แนวทางดำเนินการของ ธ.ก.ส. พิจารณาปลดหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยโดยการจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้ของ ธ.ก.ส.
2. โครงการปรับโครงสร้างหนี้ (1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพต่ำที่ผ่านการประเมินศักยภาพแล้วปรากฏว่ายังมีความสามารถในการประกอบอาชีพแต่มีปัญหาในการชำระหนี้ จากเหตุสุจริตจำเป็นและเป็นภาระหนัก ประมาณ 340,000 ราย หนี้สินประมาณ 48,000 ล้านบาท (2) แนวทางดำเนินการของ ธ.ก.ส. (2.1) ปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่เกษตรกรตามศักยภาพ โดยให้ผ่อนชำระต้นเงินตามงวดหรือระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 10 ปี เว้นแต่มีความจำเป็นอาจกำหนดให้ชำระไม่เกิน 15 ปี โดยไม่ต้องชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี และคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ในอัตราปกติของ ธ.ก.ส. และเมื่อเกษตรกรชำระหนี้เงินต้น พร้อมดอกเบี้ยได้ตามงวดการชำระที่กำหนด ธ.ก.ส. จะยกหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้งจำนวน สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับโครงสร้างแล้ว ธ.ก.ส. จะรับภาระดอกเบี้ยบางส่วนแทนเกษตรกร (2.2) สนับสนุนสินเชื่อใหม่ให้แก่เกษตรกรตามแผนฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหรืออาชีพอื่นที่เหมาะสม วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของ ธ.ก.ส. (2.3) ฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรตามโครงการนี้ผ่านศูนย์เรียนรู้ชุมชน หรือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ดำเนินการฟื้นฟูผ่านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลของ กษ. กรณีมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลให้ กษ. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
3. โครงการขยายเวลาชำระหนี้ (1) กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรรายย่อยที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพแต่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรัง และราคายางพาราตกต่ำ ประมาณ 450,000 ราย หนี้สิน ประมาณ 64,000 ล้านบาท (2) แนวทางดำเนินการของ ธ.ก.ส. (2.1) พิจารณาขยายเวลาชำระหนี้ตามศักยภาพของเกษตรกร (2.2) งดคิดเบี้ยปรับและคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากเกษตรกรตามโครงการในอัตราปกติของ ธ.ก.ส. (2.3) สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม (เงินกู้ใหม่) ให้แก่เกษตรกรเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน ประกอบอาชีพการเกษตรอย่างอื่น หรือประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท วงเงินสินเชื่อ 35,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติของ ธ.ก.ส.
ระยะเวลาดำเนินการ
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2559 โดยใช้ข้อมูลลูกหนี้ที่ ธ.ก.ส. สำรวจ ณ วันที่ 31 มกราคม 2558
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มีนาคม 2558--