สคก. เสนอว่า เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดมาตรการในเรื่องการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของบทบัญญัติของกฎหมาย ส่งผลให้กฎหมายจำนวนมากมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม จึงสมควรกำหนดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของบทบัญญัติของกฎหมายทุกฉบับตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนดโดยเร่งด่วน
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้ร่างพระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
2. กำหนดประเภทกฎหมายที่จะต้องมีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสม ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด และกฎตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ทั้งนี้ ได้กำหนดยกเว้นกฎหมายบางประเภท ได้แก่ กฎหมายที่มีผลใช้บังคับเฉพาะช่วงระยะเวลาที่กำหนด กฎหมายที่กำหนดให้มีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งและได้ดำเนินการแล้ว กฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม กฎหมายที่กำหนดลักษณะของเครื่องแสดงวิทยฐานะ เครื่องหมาย หรือเครื่องแบบ และกฎหมายอื่นที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
3. กำหนดให้ผู้รักษาการตามกฎหมายเป็นผู้มีหน้าที่ในการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุก 5 ปีที่กฎหมายใช้บังคับ หรือเมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด และกำหนดให้กฎหมายที่ไม่มีรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้รัฐมนตรีคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก็ได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้รักษาการตามกฎหมายร้องขอ คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจะพิจารณาดำเนินการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายแทนผู้รักษาการตามกฎหมายก็ได้
4. กำหนดขอบเขตของเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการทบทวนขั้นตอนในการพิจารณาทบทวน และการตรวจสอบกฎหมายที่จะต้องมีการพิจารณาทบทวนในวาระเริ่มแรกตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด
5. กำหนดให้ผู้รักษาการตามกฎหมายสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำคำแปลของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ทั้งหมดเป็นภาษากลางของอาเซียนให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และให้เผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ประชาชนสามารถเข้าถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
6. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2558--