1. สธ. เสนอว่า การจัดการเรื่องส้วมและสิ่งปฏิกูลตามกฎหมายไทยได้มีการพัฒนามาจากสภาวการณ์ที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคติดต่อมิให้แพร่หลาย และแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือข้อบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งปฏิกูลหลายฉบับ จากการศึกษาข้อกฎหมายต่าง ๆ มีปัญหาอุปสรรคหลายประการ ได้แก่ ปัญหาในทางปฏิบัติของกฎหมายควบคุมอาคารที่เน้นเฉพาะช่วงการก่อสร้างอาคาร แต่หลักจากนั้นมิได้มีระบบการดูแลด้านสุขลักษณะ การขนสิ่งปฏิกูล การบำบัดหรือกำจัดสิ่งปฏิกูล มีข้อจำกัดของพื้นที่บังคับตามกฎหมายหรือการบังคับใช้กฎหมายต่างฉบับในเขตพื้นที่ที่ทับซ้อนกัน และจากผลการสำรวจสถานการณ์การจัดการสิ่งปฏิกูลตามกฎหมายการสาธารณสุขพบว่า หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นที่ควบคุมดูแลการจัดการสิ่งปฏิกูลขาดทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการและการใช้มาตรการด้านกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ ผู้บริหารท้องถิ่นยังมิได้นำมาตรการด้านกฎหมายไปบังคับใช้อย่างจริงจัง การควบคุมการขนสิ่งปฏิกูลยังไม่มีระบบการติดตามตรวจสอบที่ชัดเจนหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นไม่มีระบบบำบัดสิ่งปฏิกูล หรือมีระบบแต่ไม่ได้ดำเนินการบำบัดสิ่งปฏิกูลสูงถึง ร้อยละ 79.5 และการขาดการประสานงานร่วมมือระหว่างราชการส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบว่า การควบคุมดูแลปัญหาด้านการจัดการสิ่งปฏิกูลในกรณีจัดการชุมนุม งานเทศกาลหรือในกรณีฉุกเฉิน สถานการณ์ภัยพิบัติ อุทกภัย หรือกรณีที่จำเป็นต้องจัดตั้งจุดอพยพหรือที่อยู่อาศัยชั่วคราวยังไม่มีบทบัญญัติไว้ในกฎหมายใด จึงเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “สิ่งปฏิกูล” “การจัดการสิ่งปฏิกูล” “ส้วม” “ส้วมสาธารณะ” “การขนสิ่งปฏิกูล” “การบำบัดสิ่งปฏิกูล” “การกำจัดสิ่งปฏิกูล” และ “กากตะกอน”
2. กำหนดให้กรณีจัดการชุมนุม หรือการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ผู้จัดการชุมนุมต้องจัดให้มีส้วม กรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือสาธารณภัยต่อสาธารณชน ให้ราชการส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีส้วมเคลื่อนที่หรือส้วมชั่วคราว
3. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารสุขประกาศกำหนดเกี่ยวกับประเภทของสถานประกอบกิจการหรือสถานที่อื่นใดที่ต้องจัดให้มีบริการส้วมสาธารณะ
4. กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ยานพาหนะ หรือสถานที่ที่จัดให้บริการส้วมสาธารณะ ต้องจัดให้มีห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะและสามารถให้ผู้สูงอายุและผู้พิการเข้าใช้ได้ ได้แก่ การดูแลพื้น ผนัง เพดานโถส้วม โถปัสสาวะ การจัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยทั่วไปที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เป็นต้น
5. กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเกี่ยวกับการขนสิ่งปฏิกูล ยานพาหนะสำหรับการขนสิ่งปฏิกูล รวมทั้งมาตรการควบคุม กำกับ การขนสิ่งปฏิกูลตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด
6. กำหนดให้หลักเกณฑ์ มาตรฐาน และวิธีการเกี่ยวกับระบบการบำบัดหรือกำจัดสิ่งปฏิกูลให้เป็น ไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2558--