สาระสำคัญของร่างระเบียบฯ
1. กำหนดบทอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ในการออกระเบียบ
2. กำหนดนิยามคำว่า “คนหาย” “ศพนิรนาม” และ “สำนักงาน”
3. กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม เรียกโดยย่อว่า “ค.พ.ศ.” โดยมี รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ เพื่อทำหน้าที่จัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนระดับชาติ และให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค กำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแบบในการแจ้ง การจัดเก็บ การรวบรวม และประสานข้อมูล รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามคนสูญหายและการพิสูจน์ศพนิรนาม และให้หน่วยงานรัฐให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของ ค.พ.ศ.
4. กำหนดให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยธ.ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ ค.พ.ศ. และกำหนดอำนาจหน้าที่
5. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐได้รับแจ้งว่ามีคนหาย ให้แจ้งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานทราบโดยเร็ว และในกรณีที่มีผู้มาแจ้งต่อสำนักงานว่ามีคนหาย ให้สำนักงานรีบจัดเก็บข้อมูลนั้น และจัดส่งตัวผู้แจ้งพร้อมข้อมูลดังกล่าวไปยังสถานีตำรวจใกล้เคียงทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
6. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐได้รับแจ้งว่ามีการพบศพนิรนาม ให้แจ้งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานทราบโดยเร็ว และในกรณีที่มีผู้มาแจ้งต่อสำนักงานว่ามีการพบศพนิรนามให้สำนักงานรีบจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวและจัดส่งตัวผู้แจ้งพร้อมข้อมูลนั้นไปยังสถานีตำรวจใกล้เคียงทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
7. กำหนดกรณีที่หน่วยงานของรัฐใดไม่สามารถระบุได้ว่าศพนิรนามเป็นบุคคลใด หรือศพนิรนามที่ต้องทำการตรวจพิสูจน์มีจำนวนมาก หน่วยงานของรัฐนั้นอาจร้องขอให้สำนักงานเป็นผู้ดำเนินการตรวจพิสูจน์ ศพนิรนามดังกล่าวก็ได้ และเมื่อสำนักงานได้ตรวจพิสูจน์ศพนิรนามแล้ว สามารถระบุได้ว่าเป็นบุคคลใด ให้สำนักงานรีบจัดเก็บข้อมูลที่ตรวจพิสูจน์ได้และแจ้งข้อมูลดังกล่าวต่อหน่วยงานของรัฐที่ร้องขอทราบทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
8. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2558--