1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารร่างปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Kuala Lumpur Declaration on a People-Centred ASEAN) และร่างปฏิญญาลังกาวีว่าด้วยแนวคิดทางสายกลาง (Langkawi Declaration on Global Movement of Moderates) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารในข้อ 1.
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 26 ถึง 27 เมษายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนอกเหนือจากการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนแล้ว จะมีการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เยาวชนอาเซียน และองค์กรภาคประชาสังคม โดยในระหว่างการประชุมจะมีการรับรองเอกสารที่เป็นผลลัพธ์ของการประชุมเพื่อให้การประชุมฯ มีผลที่เป็นรูปธรรม
ร่างเอกสารซึ่งผู้นำอาเซียนจะมีการรับรองในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน มีจำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
1. ร่างปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Kuala Lumpur Declaration on a People-Centred ASEAN) มีสาระสำคัญที่จะสร้างประชาคมอาเซียนที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นสำคัญและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการดำเนินงานภายใต้เสาหลักของอาเซียนทั้ง 3 เสา ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม เช่น การส่งเสริมธรรมาภิบาล นิติธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การสร้างเศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน และสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างประชาชนอาเซียนและการขจัดความยากจน
2. ร่างปฏิญญาลังกาวีว่าด้วยแนวคิดทางสายกลาง (Langkawi Declaration on Global Movement of Moderates) มีสาระสำคัญที่จะส่งเสริมแนวคิดทางสายกลางให้เป็นค่านิยมของอาเซียนเพื่อเสริมสร้างสันติภาพความมั่นคงและการพัฒนา รวมทั้งยึดมั่นในหลักนิติธรรมในการดำเนินความสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธีตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมแนวคิดดังกล่าว เช่น การจัดประชุมสัมมนาทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ ตลอดจนการอภิปรายแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือปลูกฝังค่านิยมดังกล่าว เพื่อป้องกันการแพร่ขยายของแนวคิดสุดโต่งรุนแรงและแก้ไขปัญหานี้ที่ต้นเหตุ
โดยที่ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่อาเซียนให้ความสำคัญ โดยมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีบริบทที่เป็นการแสดงเจตนาที่จะก่อให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งจะไม่มีการลงนามระหว่างกัน ร่างปฏิญญาทั้งสองฉบับจึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2558--