สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ปัจจุบันสมาชิกความตกลง GPA มีจำนวน 42 ประเทศ และผู้สังเกตการณ์มีจำนวน 28 ประเทศ โดยมีประเทศในอาเซียนที่เป็นสมาชิกความตกลง GPA จำนวน 1 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ และเป็นผู้สังเกตการณ์ จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนาม
2. ปัจจุบันประเทศไทยมีพันธกรณีภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคี (Free Trade Agreement : FTA) ที่มีประเด็นเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement) กับประเทศคู่ภาคีต่าง ๆ ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งมีสาระสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐระหว่างกัน ทั้งนี้ ความตกลง GPA ได้ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในหัวข้อการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในภาพรวม ดังนั้น การสมัครเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ใน GPA Committee จะเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในอนาคตเพื่อก้าวเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศในด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
3. ประโยชน์จากการเป็นผู้สังเกตการณ์ คือ ประเทศไทยสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมของ GPA Committee ทำให้รับทราบความเป็นไป การดำเนินการและการบริหารจัดการประเด็นต่าง ๆ ภายใต้ความ ตกลง GPA รวมทั้งสามารถสังเกตการณ์การหารือในประเด็นสำคัญและประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง GPA ของภาคีสมาชิก โดยใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย รวมทั้งสามารถศึกษาในเชิงลึกถึงข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความตกลง GPA นอกจากนั้นยังสามารถร้องขอความช่วยเหลือทางวิชาการจากฝ่ายเลขาธิการ WTO ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ไทยมีความเข้าใจต่อความตกลง GPA มากขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจา FTA
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2558--