คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล ครบ 4 เดือน พ.ศ. 2557 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สสช. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล ครบ 4 เดือน พ.ศ. 2557 โดยสอบถามจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 3 ,900 ราย ระหว่างวันที่ 25 – 29 ธันวาคม 2557 ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ได้สะท้อนข้อคิดเห็นของประชาชนให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้นำผลการสำรวจไปใช้ในการวางแผนปรับปรุงนโยบาย และติดตามประเมินผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การรับชม/รับฟังรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 91.3 รับชม/รับฟัง (โดยรับชม/รับฟังทุกครั้ง ร้อยละ 20.2 รับชม/รับฟังบางครั้ง ร้อยละ 71.1) และไม่ได้รับชม/รับฟัง มีร้อยละ 8.7
2. การรับชม/รับฟังรายการเดินหน้าประเทศไทย ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.0 รับชม/รับฟัง (โดยรับชม/รับฟังทุกวัน ร้อยละ 19.8 รับชม/รับฟังบางวัน ร้อยละ 69.2) และไม่ได้รับชม/รับฟัง มีร้อยละ 11.0
3. ความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานในภาพรวมของรัฐบาล ประชาชนเกินครึ่ง ร้อยละ59.9 พึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 36.3 มีความพึงพอใจในระดับปานกลาง
4. ความเชื่อมั่นต่อการบริหารงานของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 61.6 มีความเชื่อมั่นในระดับมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 34.8 มีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง
5. การรับทราบการบริหารงานโครงการเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาล ประชาชนทราบเรื่องการบริหารงานที่สำคัญของรัฐบาลในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา 5 อันดับแรก คือ 1) การปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด (ร้อยละ 95.9) 2) การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ (ร้อยละ 94.2) 3) การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน (ร้อยละ 92.8) 4) การบริหารจัดการและกำหนดราคาเชื้อเพลิง (ร้อยละ 92.2) และ 5) การสร้างความปรองดอง/คืนความสุขให้กับคนในชาติ (ร้อยละ 91.0)
6. ความพึงพอใจการบริหารงานโครงการเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาล จากผลสำรวจ 5 อันดับแรกที่ประชาชนพึงพอใจในระดับปานกลางถึงมากที่สุด คือ การปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด ร้อยละ 92.2 (ปานกลาง ร้อยละ 23.9 มาก ร้อยละ 46.8 และมากที่สุด ร้อยละ 21.5) รองลงมา คือ การดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ร้อยละ 89.3 (ปานกลาง ร้อยละ 30.9 มาก ร้อยละ 45.0 และมากที่สุด ร้อยละ 13.4) การบริหารจัดการและกำหนดราคาเชื้อเพลิง ร้อยละ 88.4 (ปานกลาง ร้อยละ 28.5 มาก ร้อยละ 41.2 และมากที่สุด ร้อยละ 18.7) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร้อยละ 87.5 (ปานกลาง ร้อยละ 26.1 มาก ร้อยละ 43.0 และมากที่สุด ร้อยละ 18.4) และการสร้างความปรองดองและคืนความสุขให้กับคนในชาติ ร้อยละ 87.3 (ปานกลาง ร้อยละ 27.9 มาก ร้อยละ 42.3 และมากที่สุด ร้อยละ 17.1)
7. ข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานของรัฐบาล ประชาชนแสดงความคิดเห็น ร้อยละ 35.0 โดยมีเรื่องที่ต้องการเสนอแนะ 5 อันดับแรก ดังนี้ ให้บริหารงานต่อไป ทำดีแล้วบริหารงานรวดเร็ว จริงใจ (ร้อยละ 34.5) รองลงมา ต้องการให้แก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง (ร้อยละ 30.6) แก้ไขปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ (ร้อยละ 25.6) แก้ไขปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 15.2) แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการ (ร้อยละ 15.1)
8. การรับทราบแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยและแหล่งที่ทราบ จากผลสำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 92.2) ทราบเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยและไม่ทราบ ร้อยละ 7.8 โดยได้ระบุถึงแหล่งที่ทราบ 3 อันดับแรก คือ โทรทัศน์ (ร้อยละ 98.5) หนังสือพิมพ์/เอกสาร/สิ่งพิมพ์ (ร้อยละ 32.8) และการบอกเล่าของคนในชุมชน/หมู่บ้าน (ร้อยละ 24.4)
9. เรื่องที่ต้องการให้ปฏิรูปประเทศไทย เรื่องที่ประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศไทย 5 เรื่องแรก คือ เศรษฐกิจ (ร้อยละ 83.9) การเมือง (ร้อยละ 70.4) การศึกษา (ร้อยละ 53.6) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 38.8) และการปกครองท้องถิ่น (ร้อยละ 33.9)
10. ความต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 74.0) ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย และไม่ต้องการ ร้อยละ 26.0 โดยได้ระบุช่องทาง/วิธีการที่ต้องการมีส่วนร่วม 5 อันดับแรก ได้แก่ ประชามติ (ร้อยละ 30.5) จัดประชุมสัมมนา/เวทีเสวนา (ร้อยละ 25.6) กล่องรับความคิดเห็นที่วางไว้ที่ไปรษณีย์ (ร้อยละ 16.0) ผ่านช่องทางเว็บไซต์/e-mail (ร้อยละ 12.8) และสายด่วน 1743 (ร้อยละ 7.7)
ในส่วนของกลุ่มที่ไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยได้ระบุเหตุผล ดังนี้ การศึกษาน้อย/ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิรูป (ร้อยละ 36.2) ไม่มีเวลา/ต้องทำงาน (ร้อยละ 30.6) ขอเป็นกลาง/แก้ไขแล้วก็กลับมาเหมือนเดิม (ร้อยละ 9.6)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2558--