การจัดทำตราสารยอมรับการแก้ไขพิธีสารเกียวโตและภาคผนวกของพิธีสารเกียวโต

ข่าวการเมือง Tuesday April 28, 2015 16:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบตัวบทสุดท้ายของการแก้ไขพิธีสารเกียวโตและภาคผนวกของพิธีสารเกียวโต

2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำและส่งตราสารยอมรับการแก้ไขพิธีสารเกียวโตและภาคผนวกของพิธีสารเกียวโตต่อเลขาธิการสหประชาชาติในฐานะผู้เก็บรักษาเอกสาร

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ทส. มีความเห็นสอดคล้องกับ กต. ว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดแสดงเจตจำนงให้ข้อแก้ไขพิธีสารเกียวโตและภาคผนวกของพิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้ไปพลางก่อน จึงเห็นว่าควรเสนอเฉพาะการจัดทำตราสารยอมรับข้อแก้ไขพิธีสารเกียวโตและภาคผนวกของพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศต่าง ๆ ตามกรอบพันธกรณีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ สถานการณ์ ณ วันที่ 15 มกราคม 2558 มีรัฐภาคีได้ยื่นตราสารยอมรับข้อแก้ไขพิธีสารเกียวโตแล้ว จำนวน 23 ประเทศ โดยมี 6 ประเทศจากทวีปเอเชีย ประกอบด้วย บังกลาเทศ สหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่ยื่นตราสารยอมรับ และสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และเพื่อนบ้านสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์

2. ที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 18 (COP 18) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 8 (CMP 8) ได้รับรองข้อตัดสินใจที่สำคัญหลายประเด็นรวมทั้งชุดข้อตัดสินใจ Doha Climate Gateway ซึ่งระบุการแก้ไขพิธีสารเกียวโตและภาคผนวกของพิธีสารเกียวโต โดยตัวบทสุดท้ายของการแก้ไขพิธีสารเกียวโตและภาคผนวกของพิธีสารมีประเด็นที่สำคัญคือ กำหนดให้ประเทศภาคีในภาคผนวกที่ 1 ต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันในช่วงปี พ.ศ. 2556 – 2563 (ค.ศ. 2013 – 2020) ในระดับที่ต่ำกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) อันเป็นปีฐานอย่างน้อยร้อยละ 18 โดยที่สาระอื่น ๆ ในพิธีสารเกียวโตยังคงไว้เช่นเดิมตามที่ประเทศไทยได้เคยให้สัตยาบันไว้แล้ว

3. การแก้ไขพิธีสารเกียวโตในพันธกรณีระยะที่ 2 ได้ให้อิสระกับประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ในการดำเนินการตามความสมัครใจ ดังนั้น ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายมารองรับ นอกเหนือจากการดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วนตามที่ได้ระบุไว้ตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ