เรื่อง ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 3 และแผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 4
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 3 และแผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2558 – 2561)
2. เห็นชอบและอนุมัติให้ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ลงนามในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 3
3. เห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 3 และแผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2558 – 2561) ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญก่อนการลงนาม โดยหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.)
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. รายงานว่า
1. ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 3 เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ต่อเนื่องจากสองฉบับแรกว่าประเทศสมาชิกจะร่วมกันต่อต้านการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ และยืนยันความมุ่งมั่นที่มีต่อบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (บันทึกความเข้าใจ COMMIT) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 โดยอาศัยความช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อความก้าวหน้าและให้บรรลุพันธกรณีตามที่ปรากฏในบันทึกความเข้าใจ COMMIT ตลอดจนตระหนักถึงความจำเป็นของแผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาค ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2558 – 2561)
2. แผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2558 – 2561) มีวัตถุประสงค์ที่จะเติมเต็มศักยภาพของบันทึกความเข้าใจ COMMIT ในเรื่องกลไกการคุ้มครองและการส่งต่อระหว่างประเทศในระดับอนุภูมิภาค รวมถึงมาตรการด้านนโยบาย ความร่วมมือ และการป้องกัน ที่จำเป็น ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยในแผนปฏิบัติการระดับอนุภูมิภาคฯ ได้แบ่งออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) นโยบายและความร่วมมือ (2) กรอบกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (3) การคุ้มครองช่วยเหลือและการส่งกลับ (4) มาตรการป้องกันและการลดความเสี่ยง และ (5) การติดตามประเมินผลและระบบฐานข้อมูลด้านการค้ามนุษย์ โดยในแต่ละยุทธศาสตร์จะระบุเป้าหมาย และแต่ละเป้าหมายจะกำหนดกิจกรรม ผลผลิต ผลสัมฤทธิ์ และตัวชี้วัด ซึ่งโครงการ/กิจกรรมที่ระบุไว้ในแต่ละยุทธศาสตร์ จะประกอบด้วยกิจกรรมในระดับอนุภูมิภาคและระดับประเทศ โดยแผนปฏิบัติการเป็นเอกสารที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย อีกทั้งในแผนปฏิบัติการฯ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “กิจกรรมทั้งหมดที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 4 นี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติตามบริบทเฉพาะและกฎหมายภายในประเทศของแต่ละประเทศสมาชิก”
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2558--