คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติจากผู้แทนส่วนราชการ เป็นหัวหน้าส่วนราชการ และจากผู้แทนองค์กร เป็น หัวหน้าองค์กร เพื่อต้องการให้เกิดความร่วมมือในระดับนโยบายในการผลักดันให้มีการนำระบบมาตรวิทยาไปปฏิบัติเนื่องจากมาตรวิทยาเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ในการนี้การลดจำนวนคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติจาก 18 คน เหลือ 15 คน ทั้งนี้ต้องการให้เกิดความคล่องตัวและเหลือเท่าที่จำเป็นในระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI)
2. แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับในการบริหารงานบุคคลได้อย่างครบหน้าที่ของหลักวิชาการบริหารงานบุคคล
3. แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก “2 ปี” เป็น “3 ปี” และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน และกรณีครบวาระแต่ยังไม่มีการแต่งตั้ง ให้ผู้ทรงคุณวุฒิเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิใหม่
4. แก้ไขเพิ่มเติมให้สถาบันสามารถของบประมาณประจำปีจากสำนักงบประมาณได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความคล่องตัว และไม่เป็นภาระทางธุรการแก่สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้พนักงานของสถาบันมีความชัดเจนที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายแรงงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายกองทุนเงินทดแทน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายประกันสังคม แต่ต้องสร้างหลักประกันด้านสวัสดิภาพของพนักงานในฐานะพนักงานของรัฐจะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของแรงงานภาคเอกชน และให้ทรัพย์สินของสถาบันซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับทางคดี
5. แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของสถาบัน ให้สอดคล้องกับภารกิจของสถาบันที่ครอบคลุมถึงมาตรวิทยาทางด้านเคมีและชีวภาพ และให้ทำหน้าที่ดำเนินการและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI)
6. แก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางด้านมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพได้ตามภารกิจ มีการมอบหมายให้หน่วยงานอื่นที่มีความสามารถเฉพาะด้านวิชาการมาตรวิทยาเป็นตัวแทนสถาบันมาตรวิทยาในนามประเทศไทยบนเวทีมาตรวิทยาระหว่างประเทศรัฐบาลไม่ต้องลงทุนพัฒนาอีก เป็นการประหยัดทรัพยากรของประเทศ
7. แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติมีความยืดหยุ่นในการพิจารณาค่าตอบแทนของผู้อำนวยการ
8. การแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้อำนวยการ เพื่อการบริหารงานแบบมีธรรมาภิบาล
9. แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สถาบันสามารถใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการบริหารงานบุคคลได้ และเปิดกว้างกรณีที่อนาคตอาจมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาสถาบันหรือพนักงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติและความสามารถในการจ่าย
10. แก้ไขเพิ่มเติมรอบระยะเวลาบัญชีปกติให้ตรงกับรอบระยะเวลางบประมาณแผ่นดิน เพื่อลดธุรกรรมความซ้ำซ้อนการทำงานของสถาบัน และเพื่อให้งบการเงินสะท้อนภาพการบริหารงบประมาณประจำปีของสถาบัน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 พฤษภาคม 2558--