1. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กค. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้จ่ายในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยรายได้ของกองทุนฯ ส่วนหนึ่งมาจากเงินอุดหนุนรัฐบาล และบริหารจัดการโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
2. ปัจจุบันได้มีการกำหนดมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและคนพิการ ดังนี้
2.1 กรณีหักลดหย่อนหรือค่าใช้จ่ายได้เท่าที่มีการจ่ายจริง
บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่บริจาคให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ และเอกชน หอสมุดหรือห้องสมุดของทางราชการ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาเป็นการทั่วไป สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้เท่ากับจำนวนเงินที่บริจาคแต่ไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้สุทธิหรือร้อยละสองของกำไรสุทธิ แล้วแต่กรณี
2.2 กรณีหักลดหย่อนหรือค่าใช้จ่ายได้สองเท่าของที่มีการจ่ายจริง เพื่อการส่งเสริมเป็น กรณีพิเศษ
2.2.1 บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่บริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายได้สองเท่าของที่มีการจ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิแล้วแต่กรณี โดยต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา หรือจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษาแบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
2.2.2 บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่บริจาคเงินเข้ากองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น สามารถนำมาหักลดหย่อนหรือรายจ่ายได้สองเท่าของที่มีการจ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิ แล้วแต่กรณี
2.2.3 บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่บริจาคให้สถานศึกษาของทางราชการและเอกชน สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นค่าลดหย่อนและรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ สองเท่าของที่มีการจ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิแล้วแต่กรณี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ถึง 31 ธันวาคม 2558
3. โดยที่ปัจจุบัน การบริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา สำหรับคนพิการ ผู้บริจาคไม่สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีหรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการดำเนินงานของกองทุนฯ เห็นควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา สำหรับคนพิการ ให้เท่าเทียมกับการบริจาคกรณีทั่วไป ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนฯ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนฯ ดังนี้
1. สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากรเท่าจำนวนเงินที่บริจาคแต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น
2. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ
3. ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 พฤษภาคม 2558--