สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณี (1) การจัดการสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (2) การจัดการมูลฝอยติดเชื้อตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (3) การจัดการของเสียจากสารกัมมันตรังสีตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (4) การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ (5) การนำซากผลิตภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ตามสภาพเดิมหรือใช้ซ้ำ (6) การนำเข้าและการส่งออกวัตถุอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
2. กำหนดให้มี “คณะกรรมการจัดการซากผลิตภัณฑ์” มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินี้ และการออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ หรือดำเนินการในเรื่องใด ๆ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ พิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดประเภทผลิตภัณฑ์หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จะถูกควบคุม มาตรการการควบคุมหรือจัดการผลิตภัณฑ์หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียน อัตราค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และอัตราค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จัดทำแผนยุทธศาสตร์ห้าปีและแผนปฏิบัติการประจำปีเพื่อประโยชน์ของการดำเนินการตามกฎหมายนี้เสนอต่อรัฐมนตรี เป็นต้น
3. กำหนดประเภทผลิตภัณฑ์หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จะถูกควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ การควบคุมผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย การกำหนดให้ผู้ผลิตจัดทำแผนความรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เสนอต่อคณะกรรมการ การกำหนดรายละเอียดของแผนความรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรายงานข้อมูลการติดสัญลักษณ์ และมาตรการส่งเสริมการลดการใช้สารอันตรายและการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการถอดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่
4. กำหนดการจัดการผลิตภัณฑ์โดยกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับ 1) การทิ้ง การรับคืน การเก็บรวบรวม และการขนส่ง และ 2) การนำกลับมาใช้ใหม่ การบำบัดและกำจัด
5. ให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลซากผลิตภัณฑ์ขึ้นในกรมควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นศูนย์กลางของข้อมูลและประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยที่เกิดจากการจัดการซากผลิตภัณฑ์อย่างไม่ถูกต้อง ข้อมูลผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ระบบการเก็บรวบรวมหรือช่องทางการส่งคืนซากผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการโดยผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์ เครือข่ายรับคืนซากผลิตภัณฑ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อมูลโรงงานที่ให้บริการจัดการซากผลิตภัณฑ์ การรับเรื่องร้องเรียนตลอดจนข้อมูลอื่นเกี่ยวกับการจัดการซากผลิตภัณฑ์
6. กำหนดเป้าหมายให้ผู้ผลิตต้องเก็บรวบรวมและรีไซเคิลซากผลิตภัณฑ์ฯ ในแต่ละปี โดยอาจคิดจากสัดส่วนน้ำหนักหรือปริมาณซากผลิตภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมได้ต่อน้ำหนัก หรือปริมาณผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเฉลี่ยย้อนหลังสองปีหรือตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการเห็นเหมาะสม
7. กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ได้จากการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ โดยให้นำเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยให้แยกเป็นบัญชีเฉพาะและการนำเงินไปใช้ในกิจการที่กำหนดไว้
8. กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการกำกับ ตรวจสอบ และควบคุมเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฯ
9. กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติฯ กำหนดไว้
10. กำหนดระยะเวลาให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฯ ที่ถูกประกาศควบคุม ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน และกำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการคลังเข้าสู่กองทุนในช่วงที่ยังไม่มีเงินรายได้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2558--