คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2558 และแนวโน้มปี 2558 ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2558 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปี 2558ขยายตัวร้อยละ 3.0ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสที่สี่ของปี 2557 (QoQ_SA)
1.1 ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกบริการ โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 2.4 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ราคาคงที่) และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆโดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ราคาคงที่) ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 1.0 ร้อยละ 15.3 และร้อยละ 7.2 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 68.4 ต่ำกว่าระดับ 69.6 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังสูงกว่าระดับ 60.0 ในไตรมาสแรกของปี 2557การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการสุทธิที่ขยายตัวร้อยละ 14.7 การเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ21.7 (ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายร้อยละ 23.0) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 10.7 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการขยายตัวร้อยละ3.2ในไตรมาสก่อนหน้าโดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 37.8 เป็นผลจากการขยายตัวของการลงทุนของรัฐบาลและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งขยายตัวร้อยละ 40.9 และร้อยละ 31.8 ตามลำดับ โดยการลงทุนในภาคก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นมาก โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของรัฐบาลซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 74.1 และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวร้อยละ 30.4 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ3.6โดยการลงทุนก่อสร้างและหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 1.8 และร้อยละ 4.1ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่น ทางธุรกิจอยู่ในระดับสูงกว่า 50 (ระดับที่นักธุรกิจเริ่มขยายการลงทุน) เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส โดยอยู่ที่ระดับ 50.5 สูงกว่าระดับ 48.8 ในไตรมาสก่อนหน้า
1.2 ด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 52,997 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 4.3 สอดคล้องกับการลดลงของส่งออกของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคโดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.6 และราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 เนื่องจากสาเหตุสำคัญ4 ประการ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังชะลอตัว โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน (2) การแข็งค่าของเงินบาทโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรและเงินเยน (3) ราคาสินค้าส่งออกลดลงตามราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ยางพารา และข้าว และ (4) การตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในสินค้าส่งออกของไทยไปยังยุโรป สำหรับสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และวงจรพิมพ์ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ขยายตัว แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น จีน และตลาดอาเซียน (9) ลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.7 และในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกรวมลดลงร้อยละ 4.3 ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่าทั้งสิ้น 45,572 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 7.2 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคานำเข้าโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ แต่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
1.3 ด้านการผลิต ปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกภาคการผลิต โดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ที่ขยายตัวสูง รวมทั้งสาขาคมนาคมขนส่ง และสาขาอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยสาขาการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 25.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่การก่อสร้างภาครัฐขยายตัวสูงถึงร้อยละ 44.2 ประกอบด้วย การก่อสร้างของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 50.3 ร้อยละ 30.4 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวสูงร้อยละ 13.5 ตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวซึ่งทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว รายได้ และอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า รายรับจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.5 เทียบกับร้อยละ 60.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ แต่การผลิตเพื่อส่งออกยังลดลงตามการลดลงของปริมาณการส่งออก อุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม หลอดอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ สิ่งทอ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 62.1 สาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 4.8 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ด้านราคาที่ลดลงและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย โดยผลผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวเปลือกลดลง ส่วนผลผลิตมันสำปะหลัง อ้อย และกลุ่มไม้ผลเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ห้า โดยที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญลดลง ทั้งราคาข้าวเปลือก อ้อย ยางแผ่นดิบชั้น 3 ปาล์มน้ำมัน กุ้งขาวแวนนาไม และสินค้าปศุสัตว์ ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 12.6
1.4 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.9 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ - 0.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 325,752 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.6 ของ GDP
2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2558 เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจภายใต้ข้อจำกัดการขยายตัวของการส่งออกและความตกต่ำของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี มีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (2) การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม (3) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี (4) การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น และ (5) ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจ และเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ยูโร และเยน และความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การส่งออก อุปสงค์ภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้ และทำให้ผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่กระจายตัวทั่วถึงทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรและการส่งออกโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 0.2 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.3 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ(-0.3) – 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.9 ของ GDPโดยรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2558 ในด้านต่างๆ มีดังนี้
(1) การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ปรับตัวดีขึ้นจาก ร้อยละ 0.6 ในปี 2557แต่ต่ำกว่าการประมาณการในครั้งก่อนหน้า เนื่องจากการปรับลดการขยายตัวของการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ยังลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ฐานรายได้ที่สำคัญของประชาชนฟื้นตัวได้ช้า ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในปี 2557 ตามการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ปรับตัวดีขึ้น
(2) การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 2.0 แต่ต่ำกว่าการประมาณการครั้งก่อนหน้าตามการปรับลดประมาณการการขยายตัวของการส่งออกและเศรษฐกิจในภาพรวม ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15.8 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 4.9 ในปี 2557 และเป็นการปรับเพิ่มจากการประมาณการครั้งก่อน ตามการขยายตัวที่สูงกว่าการคาดการณ์ในไตรมาสแรกและเนื่องจากมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
(3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ.คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.2 เทียบ กับการหดตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2557 และปรับลดลงจากการประมาณการครั้งก่อน โดยมีสาเหตุจาก (1) การปรับลดประมาณการการขยายตัวของปริมาณการส่งออกตามการปรับลดสมมติฐานด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกและการส่งออกในไตรมาสแรกซึ่งลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ (2) การปรับลดสมมติฐานด้านราคาสินค้าส่งออก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกบริการขยายตัวสูงกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานด้านการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งผลให้โดยรวมคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการขยายตัวร้อยละ 0.0 ในปี 2557
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2558--