1. อนุมัติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดย กทท. เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลักทั้งหมด รวมถึงบริหารและประกอบการโดยใช้งบประมาณลงทุนรวม 1,864.19 ล้านบาท
2. อนุมัติกรอบอัตราค่าภาระขั้นต่ำ–ขั้นสูง ในอัตรา 1,545 บาท และ 3,180 บาท ตามลำดับ ดังนี้
2.1 อัตราค่าภาระขั้นต่ำ 1,545 บาท ประกอบด้วย อัตราค่าภาระยกขนตู้สินค้าในอัตราขั้นต่ำ 715 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ และอัตราค่าธรรมเนียมเคลื่อนย้ายตู้สินค้าระหว่างท่าในอัตราขั้นต่ำ 830 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ
2.2 อัตราค่าภาระขั้นสูง 3,180 บาท ประกอบด้วย อัตราค่าภาระยกขนตู้สินค้าในอัตราขั้นสูง 2,010 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพและอัตราค่าธรรมเนียมเคลื่อนย้ายตู้สินค้าระหว่างท่าในอัตราขั้นสูง 1,170 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ
โดยใช้อัตราค่าภาระขั้นต่ำที่กำหนด (1,545 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดและทุกสถานภาพ) เป็นอัตราค่าภาระเมื่อเริ่มดำเนินการ และให้ กทท. สามารถปรับลดอัตราค่าภาระในการให้บริการลงได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราค่าภาระขั้นต่ำที่กำหนด
โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ของ กทท. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. วัตถุประสงค์/เป้าหมายของโครงการ เพื่อให้บริการท่าเรือชายฝั่งเป็นการเฉพาะ โดย กทท. จะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่มีลักษณะหน้าท่าเป็นรูปตัว L ความกว้าง 30 เมตร ความยาวหน้าท่า 120 เมตร และ 125 เมตร ขนาดของแอ่งจอดเรือเท่ากับ 115 x 120 เมตร ความลึก 10 เมตร (MSL) สามารถรองรับเรือชายฝั่งขนาดระวางบรรทุก 3,000 เดทเวทตัน ยกขนตู้สินค้าคราวละ 200 เดทเวทตัน และขนาด 1,000 เดทเวทตัน ยกขนตู้สินค้าคราวละ 100 เดทเวทตัน ได้อย่างละ 1 ลำ พร้อมกัน รวมทั้งติดตั้งปั้นจั่นหน้าท่าและปั่นจั่นจัดเรียงตู้สินค้าในลานกองเก็บตู้สินค้า เพื่อให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้สูงถึง 300,000 ทีอียูต่อปี
2. ที่ตั้งโครงการ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี บริเวณแอ่งจอดเรือที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างท่าเทียบเรือ A1 และ A0 พื้นที่ 43 ไร่
3. ระยะเวลาดำเนินการ ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ประมาณ 24 เดือน (พ.ศ. 2558 - 2559)
4. งบประมาณลงทุนและแผนการใช้จ่ายเงินลงทุนของโครงการ งบประมาณลงทุน ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างท่าเทียบเรือพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าเครื่องมือยกขนหลัก (Major Equipment) และค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ (Pre-Operating Expenses) วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,864.19 ล้านบาท
5. การกำหนดอัตราค่าภาระและค่าธรรมเนียม ได้กำหนดให้ใช้อัตราค่าภาระยกขนตู้สินค้าและค่าธรรมเนียมเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่เหมาะสมสำหรับโครงการ เท่ากับ 1,545 บาทต่อตู้ทุกขนาดและทุกสถานะ เพื่อเป็นฐานในการประมาณการรายได้ของโครงการ (ค่าจ้างภาคเอกชนในกิจกรรมการยกขนตู้สินค้าเท่ากับ 394 บาทต่อตู้ทุกขนาดและทุกสถานะ คงเหลือรายได้ของภาครัฐเท่ากับ 1,151 บาทต่อตู้ทุกขนาดและทุกสถานะ)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2558--