สาระสำคัญของเรื่อง
ด้วยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 27,960 ครัวเรือนต่อเดือน คิดเป็นจำนวนประชากรที่ตกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นประมาณ 97,860 คน ซึ่งขนาดตัวอย่างดังกล่าวนำเสนอข้อมูลในระดับ ภาค และยอดรวมทั้งประเทศ สำหรับแนวคิดและคำนิยามที่ใช้ในการสำรวจใช้ตามสภาพที่เหมาะสมกับประเทศไทย และตามข้อเสนอแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และหน่วยงานสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นมาตรฐานทางสถิติที่ประเทศต่าง ๆ นำไปใช้ในการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเพื่อให้ได้ข้อมูลการทำงาน การว่างงาน และ การประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจของประชากร ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ในระหว่างประเทศ
สำหรับในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงานมีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 2.0 หมื่นคน (จาก 3.44 แสนคน เป็น 3.24 แสนคน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 5.40 หมื่นคน (จาก 3.78 แสนคน เป็น 3.24 แสนคน) สำหรับสาระสำคัญการสำรวจสรุปได้ ดังนี้
2.1 ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน
ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.28 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.53 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.24 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 4.30 แสนคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวน 2.5 แสนคน (จาก 38.03 ล้านคน เป็น 38.28 ล้านคน)
2.2 ผู้มีงานทำ
ผู้มีงานทำ 37.53 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวน 2.0 แสนคน (จาก 37.33 ล้านคน เป็น 37.53 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลง ในสาขาต่าง ๆ ได้ดังนี้
2.2.1 ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการผลิต 4.0 แสนคน (จาก 6.41 ล้านคน เป็น 6.81 ล้านคน) สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร 1.0 แสนคน (จาก 2.68 ล้านคน เป็น 2.78 ล้านคน) สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 9.0 หมื่นคน (จาก 1.17 ล้านคน เป็น 1.26 ล้านคน) สาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ 8.0 หมื่นคน (จาก 1.54 ล้านคน เป็น 1.62 ล้านคน) สาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 7.0 หมื่นคน (จาก 0.65 ล้านคน เป็น 0.72 ล้านคน) สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 4.0 หมื่นคน (จาก 0.14 ล้านคน เป็น 0.18 ล้านคน) และที่เหลือเป็นอื่น ๆ
2.2.2 ผู้ทำงานลดลง ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม 4.3 แสนคน (จาก 11.04 ล้านคน เป็น 10.61 ล้านคน) สาขาการศึกษา 1.2 แสนคน (จาก 1.23 ล้านคน เป็น 1.11 ล้านคน) สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 8.0 หมื่นคน (จาก 0.63 ล้านคน เป็น 0.55 ล้านคน) สาขาการก่อสร้าง 6.0 หมื่นคน (จาก 2.62 ล้านคน เป็น 2.56 ล้านคน) สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 3.0 หมื่นคน (จาก 6.51 ล้านคน เป็น 6.48 ล้านคน) สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ 1.0 หมื่นคน (จาก 0.72 ล้านคน เป็น 0.71 ล้านคน)
2.3 ผู้ว่างงาน
2.3.1 ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 3.24 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม (ลดลง 2.0 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557) ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.51 แสนคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.73 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคบริการและการค้า 8.2 หมื่นคน ภาคการผลิต 7.2 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.9 หมื่นคน
2.3.2 ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา 1.39 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.1 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 5.4 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.1 หมื่นคน
2.3.3 ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9.9 หมื่นคน ภาคกลาง 7.4 หมื่นคน ภาคใต้ 5.6 หมื่นคน ภาคเหนือ 5.1 หมื่นคน และกรุงเทพมหานคร 4.4 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงาน ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.1 รองลงมาเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ1.0 กรุงเทพมหานครและภาคเหนือมีอัตราการว่างงานเท่ากันคือร้อยละ 0.8 และภาคกลางน้อยที่สุด ร้อยละ 0.6
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2558--