1. เห็นชอบการให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ.2551 พ.ศ. .... และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และ
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำสัตยาบันสารเพื่อดำเนินการให้สัตยาบันความตกลงฯ ให้ความตกลงฯ มีผลผูกพันประเทศไทยต่อไป เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบความตกลง ตามข้อ 1 และร่างพระราชบัญญัติในข้อ 2 มีผลบังคับใช้แล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของอาเซียน เป็นการกำหนดรายละเอียดการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่อาเซียน เลขาธิการอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียน พนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติภารกิจเพื่ออาเซียน ผู้แทนถาวรของรัฐสมาชิกอาเซียน เจ้าหนาที่ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของอาเซียน และเจ้าหน้าที่ของรัฐสมาชิก ตลอดจนความละเมิดมิได้ในสถานที่ ทรัพย์สิน สินทรัพย์ของอาเซียน การสื่อสารในทุกรูปแบบและบรรณสารของอาเซียน
2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2551 พ.ศ. .... กำหนดให้อาเซียน สถานที่ ทรัพย์สินและสินทรัพย์ของอาเซียน การสื่อสารในทุกรูปแบบและบรรณสารของอาเซียน เลขาธิการอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียน พนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติภารกิจเพื่ออาเซียน ผู้แทนถาวรของรัฐสมาชิกอาเซียน เจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของอาเซียนและเจ้าหน้าที่ของรัฐสมาชิกซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย หรือเข้ามาในประเทศเพื่อปฏิบัติหน้าที่ หรือเข้าร่วมในกิจกรรมอันเป็นทางการของอาเซียน หรือทำการแทนอาเซียนในประเทศไทย ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน และความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2558--