1.เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมทางหลวงกรมทางหลวงชนบท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินงานตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2560
2. มอบหมายกระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานท้องถิ่นกำกับดูแลพื้นที่ทั่วไประเทศไม่ให้เกิดจุดตัดทางรถไฟ (ทางลักผ่าน) เพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากจำเป็นขอให้หน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ รฟท. กำหนด
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. คค. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาการขออนุญาตและการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ประกอบด้วย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงบประมาณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรุงเทพมหานคร และ รฟท. ซึ่งได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 จุดตัดทางรถไฟ
รฟท. มีเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ รวมระยะทางทั้งสิ้น 4,043 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 47 จังหวัด ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มีจุดตัดทางรถไฟ 2,517 แห่ง เป็นจุดตัดที่ได้รับอนุญาต 1,933 แห่ง และไม่ได้รับอนุญาตหรือทางลักผ่าน 584 แห่ง (สายใต้ 456 แห่ง สายเหนือ สายอีสาน และสายตะวัดออก 128 แห่ง) จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนบ่อยครั้งและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
1.2 สภาพปัญหาและการเกิดอุบัติเหตุ
รฟท. ได้ดำเนินการณรงค์และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดบริเวณจุดตัดทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความรุงแรงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต(ทางลักผ่าน)ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมาโดยตลอด ทั้งนี้มีสาเหตุเนื่องจากผู้ขับขี่ยานยนต์ประมาทขาดวินัยจราจรและสภาพแวดล้อม
1.3 แนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ
คณะกรรมการร่วมพิจารณาการขออนุญาตและการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ โดยมีระยะเวลาการดำเนินการปี 2558 – 2560 ดังนี้
จุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต (ทางลักผ่าน) จำนวน 584 แห่ง
1) ระยะเร่งด่วน (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558)
รฟท. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ด้วยการติดตั้งป้ายหยุด ป้ายรูปรถไฟ พร้มอจัดทำสัญญาณเตือน ไฟกระพริบตลอดเวลา เนินชะลอความเร็ว และป้ายเตือนบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต (ทางลักผ่าน) จำนวน 584 แห่ง ทั้ง 2 ด้าน
2) ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559)
รฟท. จะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพิ่มสัญญาณจราจร “สัญญาณไฟแดงวาบพร้อมเสียงเตือน” บริเวณป้ายหยุด ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งทำงานด้วยระบบตรวจสอบขบวนรถไฟที่ระยะ 300 เมตร ก่อนถึงจุดตัดผ่าน
3) ในระหว่างที่ดำเนินการระยะเร่งด่วนและระยะที่ 2 รฟท. จะดำเนินการในการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟเพิ่มเติม 2 แนวทาง ดังนี้
3.1) ดำเนินการสำรวจจุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาต (ทางลักผ่าน)
3.2) ดำเนินการติดตั้งป้ายจราจรบริเวณจุดตัดทางรถไฟ มาตรฐานตามคู่มือการติดตั้งป้ายจราจรของกรมทางหลวงชนบทการติดตั้งป้ายจราจร พร้อมทั้งจัดทำเส้นชะลอความเร็ว หรือสัญลักษณ์บนพื้นทาง (Rumble Strip) โดย รฟท. จะขอความร่วมมือให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ (ถนน) เป็นผู้ดำเนินการเพื่อเสริมความปลอดภัยบริเวณจุดตัดทางรถไฟ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มิถุนายน 2558--