เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และเห็นชอบในหลักการให้นำมติของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ไปบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แล้วให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
1. ปรับปรุงวิธีการได้มาของคณะกรรมการ ป.ป.ท. จากเดิมที่กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกจำนวนหกคนเสนอต่อวุฒิสภา และเมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป เป็นกำหนดให้คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอรายชื่อบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามองค์กรละห้าคน ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาคัดเลือกกรรมการให้ได้จำนวนหกคน และเมื่อได้กรรมการครบแล้ว ให้คณะกรรมการคัดเลือกแจ้งรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกเป็นประธานกรรมการและกรรมการ พร้อมเอกสารหลักฐาน รวมทั้งความยินยอมของบุคคลดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป เพื่อให้การแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นไปโดยอิสระ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง
2. ปรับปรุงการพ้นจากตำแหน่งกรณีอื่นของคณะกรรมการ ป.ป.ท. โดยกำหนดให้กรรมการที่มีอายุครบเจ็ดสิบปีต้องพ้นจากตำแหน่ง และเพิ่มเติมให้กรรมการมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 แล้ว ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที
3. แก้ไขเรื่องการแต่งตั้งกรรมการใหม่ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระและยังไม่มีการเลือกกรรมการใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง จากเดิมที่กำหนดให้แต่งตั้งใหม่เมื่อมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงสามคน เป็นให้แต่งตั้งใหม่เมื่อมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงห้าคน เพื่อให้มีกรรมการอยู่ในจำนวนที่เหมาะสมในการใช้อำนาจหน้าที่
4. ปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. และสำนักงาน ป.ป.ท. ให้รวดเร็วขึ้น เช่น
4.1 การรับเรื่องไว้พิจารณาได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณารับหรือไม่รับเรื่องให้ชัดเจนโดยต้องพิจารณาสั่งให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับการกล่าวหา
4.2 กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยกำหนดให้เลขาธิการและพนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งได้รับมอบหมายมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นแทนคณะกรรมการ ป.ป.ท. และยกเลิกเรื่องการให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงานโดยปกติของสำนักงาน ป.ป.ท. และพนักงาน ป.ป.ท. ที่เป็นกลไกหลักในการแสวงหาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการไต่สวนข้อเท็จจริง
4.3 การควบคุมตัวและการดำเนินคดี โดยกำหนดให้กรณีที่พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาและได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณาแล้ว ให้พนักงาน ป.ป.ท. มีอำนาจพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ต้องมีการเรียกประกันหรือหลักประกันด้วย เพื่อมิให้เป็นภาระแก่สำนักงาน ป.ป.ท. ในการหาสถานที่ควบคุมตัว
5. ปรับปรุงสถานะของสำนักงาน ป.ป.ท. ให้ส่วนราชการระดับกรมที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง เพื่อให้การทำงานของสำนักงานเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
6. ปรับปรุงเรื่องการได้รับเงินเพิ่มพิเศษของพนักงาน ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. โดยกำหนดให้ได้รับในทำนองเดียวกับค่าตอบแทนพิเศษของพนักงานไต่สวน และผู้ช่วยพนักงานไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เพราะเป็นการปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกับพนักงานไต่สวนและผู้ช่วยพนักงานไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเห็นชอบอัตราที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ท. ด้วย
7. เพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงาน ป.ป.ท. เพื่อให้ครอบคลุมกรณีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมายและสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตแล้ว และมีประสบการณ์ในการสอบสวนข้อเท็จจริงและวินิจฉัยคดีหนึ่งปี และกรณีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทอื่นซึ่งรับราชการในสำนักงาน ป.ป.ท. มาแล้วไม่น้อยกว่าแปดปี เพื่อรองรับผู้ปฏิบัติงานเดิมในสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกรณีดังกล่าวให้สามารถแต่งตั้งเป็นพนักงาน ป.ป.ท. ได้
8. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง หากพนักงานอัยการเห็นควรสั่งไม่ฟ้องหรือพนักงานอัยการยังมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับความครบถ้วนสมบูรณ์ของสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ภายในกำหนดระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง
9. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาในศาลทหารโดยกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการทหาร
10. กำหนดให้มีมาตรการป้องกันการทุจริตในภาครัฐเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีหน้าที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือมาตรการที่ล้าสมัย รวมถึงกำหนดมาตรการในกรณีที่หน่วยงานของรัฐกระทำการ หรือดำเนินโครงการใดที่ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติมิชอบ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2558--