รายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ

ข่าวการเมือง Tuesday June 23, 2015 15:44 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อต้นฤดูแล้งปี 2557/2558 มีปริมาณน้ำน้อย กรมชลประทานได้ประกาศงดส่งน้ำเพื่อการปลูกข้าวนาปรัง โดยวางแผนการใช้น้ำให้เหลือเพียงพอสำหรับสนับสนุนการปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ต้นฤดู (น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อน เมื่อต้นฤดูฝนจะมีประมาณ 4,000 – 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่ยังมีเกษตรกรบางส่วนทำการปลูกข้าวนาปรังไปประมาณ 6.26 ล้านไร่ ทำให้ต้องใช้น้ำเกินแผนไปประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร (วางแผนไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้จริง 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 จำนวน 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร) มากกว่าปี 2557 จำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร

2. คาดการณ์ผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในเบื้องต้น กรณีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปี จำนวน 4.61 ล้านไร่ หากพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถปลูกข้าวนาปีได้อย่างสิ้นเชิงจะทำให้ผลผลิตข้าวหายไปประมาณ 2.1 ล้านตัน โดยคิดเฉลี่ยจากผลผลิตต่อไร่ข้าวนาปีลุ่มน้ำเจ้าพระยา 500 กิโลกรัมต่อไร่ และคิดเป็นมูลค่าข้าวที่หายไปประมาณ 15,750 ล้านบาท โดยคำนวณจากราคาข้าวขาวในตลาด ตันละ 7,500 บาท

3. แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร

3.1 มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรดำเนินการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง

3.2 แนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ

3.2.1 พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้วประมาณ 2.84 ล้านไร่ ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวระบบจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าวเพื่อลดการใช้น้ำ และมอบหมายให้กรมชลประทาน กรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตรหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการบูรณาการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านแปลงสาธิตของกรมการข้าวในพื้นที่เพื่อสร้างการยอมรับให้แก่เกษตรกร

3.2.2 พื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูกข้าวประมาณ 4.61 ล้านไร่

(1) ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และการชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีที่จะเริ่มปลูกได้ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมหรือเมื่อมีปริมาณฝนตกชุกแล้ว เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

(2) ในระหว่างเกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี 40 - 45 วัน มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดินพิจารณาแนวทางเลือกเพื่อกำหนดเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร อาทิ การปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น พืชอายุสั้น ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณของผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวเป็นสำคัญ และหากจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือรายได้แก่เกษตรกร จะพิจารณาผลภายหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว รวมทั้งกำหนดมาตรการกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกข้าวนาปีได้

4. เกษตรกรในพื้นที่สามารถรับบริการข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ ของ กษ. ได้จากศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ เช่น การเรียนรู้ฟาร์มตัวอย่าง แปลงสาธิตการทำการเกษตร การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ องค์ความรู้ด้านเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น เพื่อใช้สำหรับลดต้นทุนการผลิต และสามารถปรับตัวเตรียมพร้อมรับสถานการณ์และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ