สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการกำลังพลสำรอง เรียกโดยย่อว่า “คกส.” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ โดย คกส. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรองและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับกำลังพลสำรอง กำหนดแนวทางการปฏิบัติและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรอง เสนอแนะแผนพัฒนากิจการกำลังพลสำรองและกำลังสำรองอื่น ๆ และเสนอแนะการกำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่กำลังพลสำรองและนายจ้างที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้
2. กำหนดให้กรมการสรรพกำลังกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของ คกส. มีอำนาจหน้าที่วางแผนและประสานงานการดำเนินการของ คกส. รวบรวมเอกสารและข้อมูลตลอดจนส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ในกิจการกำลังพลสำรองเป็นศูนย์กลางการติดต่อประสานงานในการดำเนินงานทั้งปวงเกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรองหรือปฏิบัติการอื่นใดตามที่ คกส. มอบหมาย
3. กำลังพลสำรองมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
3.1 เข้ารับราชการทหารในการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อปฏิบัติราชการ หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม หากหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่เข้ารับราชการทหารต้องระวางโทษอาญา
3.2 กรณีที่มีการเปลี่ยนชื่อตัวหรือนามสกุล หรือแก้ไขเลขประจำตัวประชาชน ให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปยังหน่วยทหารที่ตนมีรายชื่อบรรจุอยู่ หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษอาญา
4. การเรียกกำลังพลสำรองและการระดมพล กำหนดให้อยู่ภายใต้ขอบเขตและวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ โดยได้นำหลักการการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อทดลองความพรั่งพร้อม และการระดมพลมาจากข้อบังคับ กห. ว่าด้วยการเตรียมพล พ.ศ. 2515
5. กำลังพลสำรองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก การรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์อื่น ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
6. นายจ้างซึ่งไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกำลังพลสำรองในวันลาเพื่อรับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้โดยมีอัตราโทษทางอาญาเช่นเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กรกฏาคม 2558--