สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามศัพท์ต่าง ๆ เพื่อความชัดเจนในการใช้บังคับกฎหมาย
2. กำหนดให้หมายเลข 911 เป็นหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติสำหรับใช้เพื่อการแจ้งเหตุฉุกเฉิน
3. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และกรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ
4. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจัดให้มีระบบโครงข่ายเชื่อมโยงในการให้บริการ ส่งเสริม และสนับสนุนหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการระงับและบรรเทาเหตุฉุกเฉิน เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรค เปลี่ยนแปลงการกำหนดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ แต่งตั้งอนุกรรมการ รวมทั้ง ออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการ
5. กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ รับผิดชอบงานธุรการ งานวิชาการ และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานของคณะกรรมการ
6. กำหนดห้ามผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเรียกเก็บค่าตอบแทน หรือค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการให้บริการหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติจากผู้แจ้งเหตุฉุกเฉิน
7. กำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้แจ้งเหตุฉุกเฉินโดยไม่เป็นความจริง
8. กำหนดให้ผู้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินและผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้รับการคุ้มครองและไม่เป็นความผิดกฎหมายสำหรับการเข้าถึงและแจ้งข้อมูลส่วนบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฏาคม 2558--