เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กค. เสนอว่า
1. ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 92/2557 เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี โดยให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 และกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี โดยให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 9 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 10 (รวมภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
2. เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ในด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศยังอยู่ในภาวะที่ไม่ฟื้นตัว การบริโภค การลงทุน การส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว ระดับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้รัฐมีรายได้เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการบริโภคในประเทศที่อยู่ในภาวะหดตัว โดยระดับราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ จะมีการปรับราคาสูงขึ้น ดังนั้น จึงเห็นควรมีมาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
3. มติคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558 นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้การเสนอร่างกฎหมายตามนโยบายการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้ กค. พิจารณาและวิเคราะห์ผลกระทบในภาพรวมจากการปรับอัตราภาษีดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการปรับลดอัตราภาษีที่มีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ
4. มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม คาดว่าจะมีผลกระทบ ดังนี้
4.1 ในส่วนของประชาชน การขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ภาคธุรกิจมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว
4.2 ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชนและสามารถวางแผนการบริหารธุรกิจได้อย่างถูกต้องต่อไป
4.3 ในส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
1) หากกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 (รวมภาษีท้องถิ่น) ถึงแม้จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 211,900 ล้านบาท แต่จะส่งผลต่อระดับราคาสินค้าและค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น อันจะส่งผลต่อการบริโภค การผลิต การนำเข้า และการลงทุนภาคเอกชนลดลงทำให้ระบบเศรษฐกิจชะลอตัว
2) การขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 (รวมภาษีท้องถิ่น) ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) ต่อไปเป็นระยะเวลา 1 ปี จะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ เนื่องจากในการจัดทำงบประมาณได้มีการคำนวณประมาณการรายได้ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานการคำนวณของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) และคาดว่าในระยะยาวจะทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 92/2557 เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557
2. กำหนดให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากรและคงจัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558
2.1 ร้อยละหกจุดสาม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559
2.2 ร้อยละเก้า สำหรับการขายสินค้า การให้บริการหรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฏาคม 2558--