ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการให้แก่กรมทางหลวง ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี –นครราชสีมา เป็นทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษขนาด 4 – 6 ช่องจราจร ระยะทางรวม 196 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก) ที่ทางแยกต่างระดับ บริเวณบางปะอิน ผ่านอำเภอวังน้อย อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแค อำเภอเมือง อำเภอแก่งคอย และอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยกรมทางหลวงได้ออกแบบให้มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีด่านเก็บค่าผ่านทางระบบปิด (คิดตามระยะทาง) 9 แห่ง มีศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง สถานีบริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง และที่พักริมทางหลวง (Rest Area) 5 แห่ง ในตำแหน่งที่เหมาะสมตลอดแนวสายทาง ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการแล้วเสร็จเมื่อปี 2547 โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2549 รวมทั้งกรมทางหลวงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จในปี 2551 สำหรับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ประกาศในราชกิจจานุกเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2556
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฏาคม 2558--