การให้ความช่วยเหลือประชาชนจากเงินเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556

ข่าวการเมือง Tuesday July 21, 2015 18:05 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การให้ความช่วยเหลือประชาชนจากเงินเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ ดังนี้

1. ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบในการใช้จ่ายเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ข้อ 18 เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทุกมิติ สำหรับประชาชนทั่วประเทศ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน ตามนโยบายรัฐบาล และ คสช. ในกรณีที่วงเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งไม่พอ ให้จังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมต่อกระทรวงการคลังได้

2. ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วางหลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติและติดตามผลการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า

การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของการใช้เงินทดรองราชการ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ถือปฏิบัติสองกรณีดังนี้

1. กรณีที่ 1 เป็นการช่วยเหลือก่อนการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งมีวงเงินตั้งไว้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จังหวัดละ 10 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยไม่ต้องประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แต่มีเงื่อนไขและอุปสรรคในการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากแนวทางปฏิบัติยังไม่ครอบคลุมในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เช่น กรณีการจ้างแรงงานในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมถึงผลกระทบในเชิงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งวงเงินที่จังหวัดมีอยู่ ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานหากสำนักงบประมาณไม่โอนกลับมาให้ และไม่สามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งได้

2. กรณีที่ 2 เป็นการช่วยเหลือหลังจากมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว ซึ่งมีวงเงินตั้งไว้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จังหวัดละ 20 ล้านบาท ซึ่งสามารถขยายวงเงินได้ในกรณีจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในวงกว้าง

ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติ สมควรใช้แนวทางในการใช้เงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 เป็นแนวทางปฏิบัติ และเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 96/2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 จากกรณีการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะตลอดจนการแก้ไขปัญหาทุกระดับในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภัยพิบัติ

สำหรับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติให้บูรณาการการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ส่วนในพื้นที่จังหวัด ให้ศูนย์ดำรงธรรมและส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัดดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ มีผู้แทนจาก กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนหน่วยทหารในพื้นที่ หรือผู้แทนหน่วยงานอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร และให้หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฏาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ