คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกชจังตั้งองค์การการค้าโลก (Protocol Amending the Marrakesh Establishing the World Trade Organization) เพื่อผนวกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลก และนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ
2. มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการจัดทำตราสารการยอมรับ (Instrument of Acceptance) หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบเพื่อให้ พณ. นำส่งไปยังองค์การการค้าโลก
3. เห็นชอบการแจ้งบทบัญญัติที่ไทยพร้อมปฏิบัติได้ทันทีที่ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้ามีผลใช้บังคับ (Category A) รวม 131 บทบัญญัติ และให้ พณ. แจ้งไปยังองค์การการค้าโลก
4. เห็นชอบระยะเวลาปรับตัวสำหรับบทบัญญัติที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว (Category B) รวม 12 บทบัญญัติ และให้ พณ. แจ้งไปยังองค์การการค้าโลกตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยเป็นการผนวกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement TFA) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลก การแจ้งบทบัญญัติที่ไทยพร้อมปฏิบัติได้ทันทีที่ความตกลง TFA มีผลใช้บังคับ และกำหนดระยะเวลาสำหรับบทบัญญัติที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวก่อนที่จะผูกพันตามความตกลง TFA โดยความตกลง TFA ดักงล่าว เป็นเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากร การจำแนกพิกัดสินค้าและการประเมินราคาเพื่อพิธีการศุลกากร เป็นต้น กระบวนการอุทธรณ์และทบทวนคำสั่ง มาตรการในการส่งเสริมความเป็นธรรม การไม่เลือกปฏิบัติ ระเบียบเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและค่าภาระต่าง ๆ กระบวนการในการตรวจปล่อยของและพิธีการศุลกากร การประสานงานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ชายแดน การลดความซ้ำซ้อนของระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก การเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างทาง และการลดเอกสาร
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. การให้การยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก (Protocol Amending the Marrakesh Establishing the World Trade Organization) เพื่อผนวกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า เข้าเป็นอีกความตกลงหนึ่งของ WTO ซึ่งจะส่งผลทำให้ไทยผูกพันตามความตกลง TFA จะส่งผลดีต่อประเทศไทย เนื่องจากความตกลง TFA นี้ จะช่วยลดต้นทุน ระยะเวลา และปัญหาในการค้าสินค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและรัฐบาลไทยในการส่งเสริมจุดยืนด้านการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน และความพยายามเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาค และสนับสนุนการค้าเสรีภายใต้ระบบพหุภาคี หากไทยเร่งให้การยอมรับพิธีสารแก้ไขฯ แล้วเสร็จก่อนการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงสุดขององค์การการค้าโลก
2. การปรับปรุงเพิ่มเติมบทบัญญัติภายใต้ Category A และกำหนดระยะเวลาปรับตัวสำหรับบทบัญญัติภายใต้ Category B พณ. ได้สอบถามความเห็นและจัดให้มีการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และทุกหน่วยงานเห็นชอบให้ปรับเพิ่มบทบัญญัติที่พร้อมปฏิบัติได้ทันที (Category A) อีก 8 บทบัญญัติ รวมเป็น 131 บทบัญญัติ จากจำนวนบทบัญญัติในส่วนที่ 1 ทั้งหมด 143 บทบัญญัติ (เดิมในส่วนที่ 1 จำนวนบทบัญญัติทั้งหมดมี 141 บทบัญญัติ แต่จากการทบทวนถ้อยคำทางกฎหมาย ทำให้มีการจำแนกออกใหม่ได้เป็น 143 บทบัญญัติ โดยไม่มีผลกระทบต่อเนื้อหาของความตกลงฯ) คิดเป็นประมาณร้อยละ 92 พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาปรับตัวก่อนการปฏิบัติของบทบัญญัติที่ต้องการระยะเวลาปรับตัว (Category B) ซึ่งไทยมี 12 บทบัญญัติ ต้องการระยะเวลาปรับตัว 3 ถึง 7 ปี
3. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศมีความเห็นว่า พิธีสารแก้ไขฯ จัดทำขึ้นเพื่อผนวกความตกลง TFA เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Annex 1 A ของความตกลง WTO และโดยที่ข้อ 2 ของความตกลง WTO (Article II Scope of the WTO) กำหนดให้ Annexes 1, 2 และ 3 เป็นส่วนหนึ่งของความตกลง WTO ด้วย จึงเป็นการทำหนังสือสัญญาเพื่อแก้ไขหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี และอยู่ในข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ตามมาตรา 23 วรรคสอง และวรรคสามของรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฏาคม 2558--