ร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย – ปากีสถาน และไทย – ตุรกี

ข่าวการเมือง Tuesday July 28, 2015 18:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย – ปากีสถาน และ FTA ไทย – ตุรกี

2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ประกาศเปิดเจรจา FTA ไทย – ปากีสถาน กับฝ่ายปากีสถาน ณ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน

3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ประกาศเปิดเจรจา FTA ไทย – ตุรกี กับฝ่ายตุรกี ณ สาธารณรัฐตุรกี

กรอบการเจรจา FTA ไทย – ปากีสถาน และ FTA ไทย – ตุรกี มีสาระสำคัญครอบคลุม 10 ประเด็น สรุปได้ดังนี้

1. การค้าสินค้า ให้มีการลดหรือยกเลิกอากรศุลกากรให้ครอบคลุมการค้าระหว่างกันให้มากที่สุด โดยเน้นให้ลดภาษีในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพส่งออกโดยให้มีความสมดุลระหว่างสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ลดหรือเลิกมาตรการกีดกันและอุปสรรคทางการค้าให้มากที่สุด ให้มีระยะเวลาในการปรับตัวที่เหมาะสม ให้ใช้พิกัดศุลการกรตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

2. พิธีการศุลกากร ให้มีความร่วมมือในด้านพิธีการศุลกากรเพื่อลด/ขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน อำนวยความสะดวกทางการค้า และไม่สร้างภาระกระตุ้น

3. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า กำหนดกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าให้สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตของไทย ร่วมมือจัดทำและ/หรือปรับปรุงระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ใช้พิกัดศุลกากรตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

4. มาตรการปกป้องและมาตรการเยียวยาด้านการค้า ให้มีมาตรการปกป้องสองฝ่ายเพื่อปกป้องและ/หรือเยียวยาภาคเกษตรและอุตสาหกรรมภายในที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ให้มีมาตรการปกป้องกรณีที่เกิดปัญหาด้านดุลการชำระเงิน ให้มีแนวทางการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้ การอุดหนุนที่ไม่ขัดกับกฎเกณฑ์ของ WTO

5. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ให้ใช้มาตรการที่สอดคล้องกับ WTO ให้มีกลไกการหารือระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ และหาแนวทางลดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากกฎระเบียบด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

6. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ให้การใช้มาตรการด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ให้มีกลไกการหารือระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ และหาแนวทางลดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากกฎระเบียบทางเทคนิคหรือมาตรฐาน

7. การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ จัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้บังคับความตกลงให้เป็นไปตามหลักการและกลไกการระงับข้อพิพาทที่ยอมรับโดยสากล

8. ความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ให้มีความร่วมมือเพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกและมูลค่าการค้าระหว่างกัน และให้มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย

9. ความโปร่งใส ให้มีกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและข้อบังคับภายในที่มีความโปร่งใส และมีกระบวนการในการเผยแพร่ให้เก่สาธารณชนและผู้ประกอบการ

10. เรื่องอื่น ๆ หารือเรื่องอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในภาพรวม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฏาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ